Ads 468x60px

วันจันทร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ตัวอย่างสวนผักของคนเมือง สวนผักบ้านทาวน์เฮ้าส์ สวนผักบ้านเดี่ยว สวนผักดาดฟ้า สวนผักชุมชน

 

http://www.softbizplus.com/decorate/857-vegetable-garden-in-capital

           เมื่อนึกถึง “คนเมือง” หลายคนมักนึกถึงผู้คนแต่งชุดทำงาน ถือกระเป๋าเอกสาร หน้าตาคร่ำเคร่ง กินแต่อาหารสำเร็จรูป จะเนื่องด้วยสภาพเศรษฐกิจ สังคมที่เร่งรีบหรือจากสาเหตุอะไรก็ตาม ที่ทำให้วิถีชีวิตและค่านิยมของพวกเขาเปลี่ยนไป จนขาดทักษะในการพึ่งพาตนเองในด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านอาหาร ที่ต้องพึ่งพิงตลาดเพียงอย่างเดียว
           การปลูกผักไว้บริโภคเองในครัวเรือน จึงถือเป็นกิจกรรมหนึ่งที่มีส่วนช่วยให้คนเมืองสามารถพึ่งตนเองด้านอาหารได้ มากขึ้น ทั้งช่วยลดรายจ่าย ช่วยเชื่อมความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวและคนในชุมชน แถมผักยังมีคุณค่าทางโภชนาการ ส่งผลดีต่อสุขภาพด้วย เพราะปัจจุบันอาหารต่างๆ ที่คนเมืองเลือกซื้อ มักเต็มไปด้วยสารเคมี ทั้งยังผ่านกระบวนการแปรรูปมาอีกหลายขั้นตอน ทำให้คุณค่าทางอาหารน้อยลง นอกจากนี้ยังมีส่วนช่วยแก้ปัญหาวิกฤติอาหาร ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมของเมือง ซึ่งเป็นปัญหาโดยรวมของสังคมอีกด้วย

           การริเริ่มโครงการดังกล่าวขึ้นมา มีวัตถุประสงค์เพื่อ ต้องการส่งเสริมและสนับสนุนการปลูกผักสวนครัวปลอดสารพิษไว้บริโภคและใช้สอย สำหรับกลุ่มครัวเรือนและชุมชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพไว้บริโภค เสริมสร้างการเรียนรู้และสนับสนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เกิดการพัฒนาความรู้เรื่องเกษตรในเมืองและชานเมือง รณรงค์เผยแพร่แนวคิดและรูปธรรมสู่สาธารณะ สุดท้ายเพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างกันของกลุ่มคนในเมืองและเพิ่ม พื้นที่สีเขียวในเขตเมือง ก่อให้เกิดสิ่งแวดล้อมที่ดีต่อคนเมืองมากขึ้น
           ส่วนกลุ่มเป้าหมายที่ ต้องการให้เข้ามาร่วมทำสวนผักคนเมืองนั้น ได้ทั้งบุคคลที่สนใจปลูกผักกินเอง กลุ่มบุคคลที่รวมตัวกันและใช้พื้นที่ตนเองในรูปแบบต่างๆ เช่น ทาวเฮาส์ บ้านเดี่ยว คอนโด หรือบ้านในชุมชนแออัด และกลุ่มบุคคลที่ใช้พื้นที่สาธารณะร่วมกัน ได้แก่ ภายในโรงเรียน ชุมชนแออัด โรงงาน วัด รวมถึงบ้านจัดสรร เป็นต้น
            สำหรับบุคคลหรือชุมชนใดที่สนใจอยากปลูกผัก แต่ยังนึกไม่ออกว่าจะเริ่มต้นอย่างไร วันนี้ขอนำเสนอการปลูกผัก 3 แบบ เผื่อคนเมืองจะเกิดไอเดียนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่อยู่อาศัยของตน
            การปลูกผักบนล้อยาง สร้าง ประโยชน์จากยางรถยนต์เก่าๆ ที่หลายคนมองว่าไร้ค่า ใครจะรู้ว่า นอกจากใช้ปลูกผักแล้ว ล้อยางยังช่วยป้องกันการรบกวนของสัตว์และแก้ปัญหาน้ำท่วมได้ด้วย ที่สำคัญเหมาะเป็นอย่างยิ่งสำหรับคนมีพื้นที่น้อยๆ อย่างคนเมือง
            สวนครัวลอยฟ้า ไม้ ประดับกินได้ การปลูกผักสวนครัวก็สามารถสร้างสรรค์ให้เกิดความสวยงามได้ไม่น้อยเช่นกัน โดยการใช้ภาชนะปลูกที่มีน้ำหนักเบา สามารถดัดแปลงให้มีขอสำหรับแขวน หรือ เกี่ยวได้ และนำไปแขวนตามจุด หรือมุมต่างๆ ของที่พักอาศัย เหมาะสำหรับที่พักอาศัยที่มีขนาดเล็ก มีพื้นที่ว่างเล็กน้อย เช่น ตามกำแพง ริมรั้ว ระเบียง ริมหน้าต่าง ผักที่เลือกมาปลูกควรเป็นผักที่หยั่งรากตื้น เช่น ผักบุ้งจีน กวางตุ้ง ผักกาดหอม โหระพา กระเพรา ข้อควรระวังคือ ความชื้นของสวนครัวลอยฟ้าจะระเหยอย่างรวดเร็ว ดังนั้นจึงต้องหมั่นรดน้ำอยู่บ่อยๆ
            ผักสวนครัวกระถาง กระสอบ หรือภาชนะ ไม่ว่าจะเป็นกะละมัง ตะกร้า หม้อ ชาม แม้แต่กล่องโฟม ก็นำมาใช้ได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ต้องเลือกชนิดผักให้เหมาะสมนั่นก็คือ ผักรากหยั่งตื้น ได้แก่ ผักชี ต้นหมอ คะน้า ผักบุ้งจีน ผักกาดขาว ผักกาดเขียว ผักกาดหอม กะหล่ำปลี สะระแหน่ ขึ้นฉ่าย ตั้งโอ๋ เป็นต้น ส่วนผักรากหยั่งลึกปานกลาง ได้แก่ กะเพรา โหระพา แมงลัก พริก มะเขือ มะเขือเทศ แตงกวา ถั่วแขก และถั่วฝักยาว เป็นต้น


หนังสือ สวนผักของคนเมือง
Vegetable Garden in Capital

9 เรื่องราวสีเขียวของเหล่าคนเมืองมือเปื้อนดิน ใจเปี่ยมสุข

         ดวงตาคนเรามักเป็นประกายเมื่อได้พูดถึงสิ่งที่รักที่ชอบ
         อยากบอกว่าเราได้เห็น “ประกาย” จากดวงตานับสิบ เมื่อครั้งที่ได้พบปะพูดคุยกับผู้ร่วมส่งสวนผักเข้ามาประกวดในโครงการ “สวนผักในบ้านฉัน” ซึ่งจัดเป็นปีแรก โดยเป็นส่วนหนึ่งของงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติครั้งที่ 6 ระหว่างวันที่ 2 - 6 กันยายน 2552
        เป็นเรื่องเกินความคาดหมายที่มีเหล่า “คนเมือง” ส่งสวนผักประเภทต่างๆ เข้าร่วมโครงการจำนวนมาก จากที่เคยมองว่าในเมืองโดยเฉพาะกรุงเทพฯ พื้นที่น้อย ไม่มีดิน คนไม่มีเวลา เห็นจะต้องเปลี่ยนมุมมองเสียแล้ว เรื่องราวในหนังสือเล่มนี้ทำให้เห็นว่า ไม่มีข้อจำกัดในหัวใจสีเขียวของพวกเขาเหล่านั้น
        เพียงแค่เรื่องเล่า คลิปวีดีโอ และรูปถ่ายที่ทยอยส่งมาทางอีเมลล์และจดหมาย ให้ได้คัดกรองเพื่อลงไปพื้นที่จริง ก็ทำให้เราอมยิ้มยากจะหุบแต่ขณะเดียวกันก็ลำบากใจกับการ “เลือก” อย่างที่สุดท้ายต้องมีผู้ชนะ คนได้รางวัล แต่เหล่าคนเมือง “มือเปื้อนดิน ใจเปี่ยมสุข” ทั้งหลายคงรู้ดี รางวัลไม่ได้เป็นสาระมากที่สุด แต่สิ่งสำคัญก็คือ ยามได้สัมผัสดิน เพาะเมล็ดดูแลบ่มเพาะต้นผักนานาชนิดที่เลือกปลูกให้เหมาะกับวิถีชีวิตต่าง หาก
        บ้างได้ผลเกินกิน บ้างล้มหายตายจากไป แต่ก็เพื่อให้ได้เรียนรู้ลองปลูกใหม่ คิดค้นหาวิธีการ หาสาเหตุปัญหากันไป หลายคนจากมือสมัครเล่น เมื่อได้ผ่านประสบการณ์ลองผิดลองถูกก็กลายเป็นกูรูแนะนำคนอื่นต่อไปเรื่อยๆ
       หนังสือเล่มนี้เป็นการถ่ายทอดเรื่องเล่าของ 9 คนเมืองที่ได้รับรางวัลจากโครงการ ด้วยเห็นว่าแนวคิด วิธีการ เทคนิค ของแต่ละคนแต่ละประเภท มีทั้งเหมือนและแตกต่าง ซึ่งน่าจะได้บอกเล่าสู่สาธารณะเพื่อเป็นแนวทางและแรงบันดาลใจให้แก่คนเมือง อีกจำนวนมากที่กำลังจดๆ จ้องๆ แต่ไม่กล้าลงมือ (ปลูก) เสียที
        เมื่อพลิกไปถึงหน้าสุดท้าย เห็นทีจะต้องโยนข้ออ้างที่ว่าไม่มีเวลาไม่มีพื้นที่ ลงกระถางไปได้เลย
        สุดท้ายต้องขอแสดงความขอบคุณและความนับถือทุกท่านที่ส่งสวนผักเข้าร่วม โครงการครั้งนี้ ทำให้เราได้เห็นเป็นบุญตาว่าในเมืองที่วุ่นวาย เมืองที่เหลือผืนดินน้อยนิด ยังมีพื้นที่สีเขียวและผู้คนหัวใจสีเขียวอยู่มากมายเพียงใด

สารบัญ

เปิดสวน
สวนผักบ้านทาวน์เฮ้าส์
สวนผักบ้านเดี่ยว
สวนผักดาดฟ้า
สวนผักชุมชน
สวนผักโรงเรียน
โรงเรียนอิสลามวิทยาลัยแห่งประเทศไทย
โรงเรียนวัดใหม่ยายนุ้ย
เล็กๆ น้อยๆ
ปลูกผักแบบไร้กระบวนท่า
หาเพื่อนร่วมปลูก กูรูแนะนำ
ผู้ส่งสวนผักเข้าร่วมโครงการ

 
Download  http://www.food4change.in.th/download/towngarden.pdf
VDO clip     http://www.food4change.in.th

0 ความคิดเห็น: