Ads 468x60px

วันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

มหัศจรรย์แห่งการเจริญสติ ภาค 2

http://www.dharma-gateway.com/ubasok/kumpol-thong-02.htm


มหัศจรรย์แห่งการเจริญสติ ภาค 2
บรรยายโดย อาจารย์กำพล ทองบุญนุ่ม
เนื่องในงานพิธีทำบุญอุทิศส่วนกุศลแด่อาจารย์ ศิษย์เก่า และนักศึกษาแพทย์ที่เสียชีวิต
เมื่อวันอังคารที่ 16 ตุลาคม 2544
ณ ห้องสมาคมศิษย์เก่าแพทย์ขอนแก่น คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
โพสท์ในลานธรรมเสวนา กระทู้ที่ 008263 - โดย คุณ : พรรณี [ 14 มี.ค. 2546 ]
เนื้อความ :
เทปค่อนข้างถอดความยาก เพราะใช้เทปเล็กอัดเสียงจากลำโพง อาจจะมีการถอดความผิดได้บ้าง ที่มี แสดงว่าฟังไม่ชัด ไม่แน่ใจ เลยเว้นไป ตอนท้ายมีการตอบคำถามจากผู้ฟัง ซึ่งได้เลือกมาเป็นบางคำถาม ขอขอบคุณ คุณหมอกำพล 2 กัลยาณมิตร ที่ได้โทรศัพท์มากระตุ้นเตือนให้เผยแพร่ เพราะเคยสัญญาไว้ว่าจะถอดเทปให้ได้อ่าน แต่ถอดใจ เพราะอ่านกระทู้ระยะนี้แล้วเห็นผู้อ่านชอบแสดงความคิดเห็นเรื่อง ต่าง ๆ เลยคิดเอาเองว่า คงไม่มีใครสนใจอ่านที่เป็นการบรรยายแล้ว และที่เลือกลงในลานธรรม เพราะ ตัวหนังสือของลานธรรม ธรรมดา อ่านง่าย มีกระดานทดให้ส่งกระทู้ดูก่อนได้ และกระทู้ตกจากกระดานได้เร็วดี ไม่ต้องค้างไว้หน้าแรกนาน
@ กราบมนัสการหลวงพ่อคำเขียน และพระคุณเจ้าที่เคารพอย่างสูง และสวัสดีญาติธรรม ผู้ที่มีจิตใจฝักใฝ่ธรรมะ ผู้มีเกียรติที่เคารพทุกท่าน
วันนี้ผมรู้สึกยินดีมากที่คนพิการจะได้มีโอกาสมาทำหน้าที่เป็นอุปกรณ์ให้กับพระธรรมอีกครั้งหนึ่ง ก็จะนำเอาสาระแห่งธรรมะมาพูดคุยสู่กันฟัง สาระแห่งธรรมะที่จะมาพูดคุยในวันนี้ ก็เป็นเรื่องสติ เพราะว่าสติถือว่าเป็นธรรมที่มีอุปการะมาก มีอุปการะมากจนถึงที่สุดก็คือ สามารถที่ทำให้ผู้ที่นำเอาไปปฏิบัติ ได้ล่วงพ้นไปเสียจากความทุกข์ได้ คือหมดปัญหาชีวิตเอง แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านยังทรงยกย่องธรรมะชื่อว่าสติ โดยยกเป็นคำอุปมา อุปมัย เปรียบเทียบไว้อย่างน่าฟังว่า รอยเท้าของสัตว์บกทั้งหลาย ไม่ว่าชนิดใด ๆ ก็ตาม ย่อมรวมลงในรอยเท้าช้างได้ทั้งหมด รอยเท้าช้างเรียกว่าเป็นยอดของรอยเท้าของสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้น โดยความใหญ่ฉันใด กุศลธรรมทั้งหลาย ไม่ว่าจะอย่างใดก็ตาม ย่อมรวมลงในความไม่ประมาท ประชุมลงในความไม่ประมาท อันความไม่ประมาทนั้นเรียกว่าเป็นยอดแห่งกุศลธรรมทั้งหลายเหล่านั้น ก็ฉันนั้น ความไม่ประมาทนี้ ท่านก็เน้นถึงการมีสติในทุกเมื่อ หรือการเป็นอยู่อย่างไม่ขาดสติ ซึ่งผมเองก็ได้รับการอุปการะจากธรรมะว่า สติ มาจนกระทั่งปัจจุบัน เพราะว่าอดีตนี่ มีความทุกข์มาก
ที่มีความทุกข์มาก เพราะว่าไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะต้องมาใช้ชีวิตในสภาพเช่นนี้ เมื่อร่างกายมีปัญหา แล้วจิตใจที่ไม่เคยฝึกฝนเรื่องธรรมะ เรื่องการฝึกสติไว้เลย ไม่มีสติคอยคุ้มครองอยู่ จิตก็ย่อมเสียศูนย์ไปเป็นธรรมดา เป็นทุกข์ทั้งในด้านร่างกายและก็จิตใจ 2 อย่างนี้ ทุกข์ทางร่างกายนี่ก็ยังพอทนได้ ยังพอทำใจได้ ยังไม่มากเท่ากับทุกข์ที่เกิดทางด้านจิตใจ ทุกข์ทางจิตนี้ ทนได้ยาก ทำใจยาก เพราะจิตมันมีความทุกข์อัดแน่นไปหมด ไม่รู้จะไปทำใจตรงช่องไหน แต่ว่าทุกข์ทางจิตที่เกิดขึ้น เพราะว่าเกิดจากความคิด พอมันคิดที่มักจะครุ่นคิดวุ่นวายไปในอารมณ์ ต่าง ๆ หมกมุ่น ย้ำคิดวกวนเวียนอยู่แต่ในสิ่งเก่า ๆ เดิม ๆ อดีตบ้าง อนาคตบ้าง จนนอนไม่หลับเพราะว่าถูกความคิดมันกัดเอา อันความคิดที่เกิดขึ้นในลักษณะเช่นนี้ อาการต่าง ๆ เหล่านี้มันเกิดขึ้นเนื่องจากเจ้าตัวอวิชชา อวิชชานี่เป็นภาษาทางธรรมะ ซึ่งแปลว่าความไม่รู้จริง ที่จริงจะว่าไม่รู้ก็ไม่ใช่ รู้ รู้อยู่ แต่มันรู้ผิด จึงเป็นเหตุทำให้เกิดการปรุงแต่ง อัดแน่นอยู่ในจิตใจเรา อาการเช่นนี้ ถ้ามีขึ้น มากขึ้น มีมากขึ้น ทวีความรุนแรงขึ้นนี่ ก็จะมีผลทำให้ เราเป็นโรคจิต โรคประสาท เครียด แล้วก็บางครั้งถึงกับคิดทำลายตัวเอง และก็ทำลายผู้อื่นให้เป็นทุกข์ไปด้วย แล้วก็อาการที่มันปรุงคิดในจิตใจ เราจะต้องมาทำความรู้จักให้ดี แล้วก็ควบคุมให้ได้ ผมเองนับว่ายังโชคดี ที่ได้มีโอกาสมาศึกษาธรรมะ ผมเริ่มต้นศึกษาธรรมะจากการอ่านหนังสือธรรมะ เมื่อก่อนที่มาปฏิบัติก็ยังไม่เคยลงมือปฏิบัติจริงจังได้แต่อ่านหนังสือธรรมะ ก็มีการแก้ปัญหา เวลาชีวิตเรามีความทุกข์นี่ เราหันเหชีวิตมาทางธรรมะ มาสนใจเรื่องธรรมะ อาจจะเริ่มต้นจากการอ่านหนังสือธรรมะก็ยังดี ก็ยังช่วยผ่อน ช่วยคลาย ทุเลาเบาบางทุกข์ให้ลดลงไปได้บ้าง ก็เกิดความเพลิดเพลินในการอ่านหนังสือ เพราะธรรมะมักจะสอนในเรื่องทุกข์ กับความดับ แต่ถ้าการอ่านอย่างเดียวนี้ก็ยังไม่เพียงพอ อ่านอย่างเดียวไม่เพียงพอ ต้องมีการลงมือปฏิบัติด้วย จึงจะดับทุกข์ได้อย่างแท้จริง ถ้าหากว่าการอ่านหนังสือธรรมะ ทำให้คนเราบรรลุธรรมได้ ผมเองก็ต้องบรรลุธรรมดับทุกข์จากตัวเองไปนานแล้ว เพราะผมอ่านหนังสือธรรมะมาตั้ง 16 ปี แต่ว่าความทุกข์ก็ยังกลุ้มรุมจิตใจผมอยู่นั่น นี่เป็นเพราะว่า ยังไม่ได้ลงมือปฏิบัติ ยังไม่ได้จัดการที่เหตุของความทุกข์ จึงดับทุกข์ไม่ได้ตลอด สำหรับผมแล้ว หลวงพ่อคำเขียนท่านเป็นผู้ที่เมตตาแนะนำวิธีการปฏิบัติธรรมให้กับผม ท่านแนะนำทางจดหมาย ผมก็เรียนรู้ด้วยการปฏิบัติพระธรรมทางจดหมายกับหลวงพ่อ แล้วก็ปฏิบัติอยู่ที่บ้าน หลวงพ่อท่านก็แนะนำวิธีการเจริญสติ ที่เรียกว่าสติปัฏฐาน 4 ก็คือการเจริญสติแบบเคลื่อนไหวนี่เอง การเจริญสติแบบเคลื่อนไหวนี่ผมถือว่าเป็นสูตรสำเร็จแล้วอยู่ในตัว เป็นธรรมที่เป็นเครื่องออกจากทุกข์ ผมก็ได้อาศัยกรรมฐานบทนี้ มาปฏิบัติจนเป็นอาชีพของผม จึงสามารถเปลี่ยนชีวิตของผมนี่มาในทางที่ดีได้ เปลี่ยนชีวิตใหม่ แต่อยู่ในร่างเก่า ยิ่งปฏิบัติไป นาน ๆ จึงเกิดความมั่นใจมาก มั่นใจใน มั่นใจในวิธีการปฏิบัติ แล้วก็มั่นใจในครูบาอาจารย์ คิดว่าท่านจะไม่นำทางเราหลงทิศหลงทางแน่นอน
หลักในการปฏิบัติ เจริญสติแบบเคลื่อนไหวสำหรับคนพิการนั้น ก็มีหลักอยู่ว่า ให้เรามี ความเพียร มีสติ ระลึกรู้ที่กายที่กำลังเคลื่อนไหว อยู่ที่ใจที่กำลังคิด มันกำลังนึก ให้ต่อเนื่อง ให้มีปัจจุบันที่กายที่จิตของเรา ทำอย่างนี้ บ่อย ๆ ทำให้เราเกิดปัญญา ซึ่งเป็นปัญญาที่เกิดจากการภาวนา เราเรียกว่าวิปัสสนาก็ได้ วิปัสสนานี้ก็แปลว่าการเห็นแจ้ง การเห็นแจ้งก็คือการเห็นเรื่องเกี่ยวกับตัวเรานั่นเอง ที่จริงแล้วการมาปฏิบัติธรรมะ ก็เพื่อให้เราได้รู้ได้เข้าใจเรื่องตัวของเราเท่านั้นเอง เมื่อเรารู้เราเข้าใจตัวเราแล้ว เราก็ย่อมจะรู้ จะเข้าใจผู้อื่นด้วย คือรู้เรารู้เขา ดูได้ที่ตัวเรา เราจะเห็น เห็นความทุกข์ ที่มันเกิดขึ้นในกายและก็ในจิตของเรา เช่น ทุกข์เวทนาที่เกิดขึ้นทางกายนี่ เมื่อเราเห็นแล้วเราก็ช่วยแก้ไข ช่วยบรรเทาไป แต่ทุกข์บางอย่างที่มันเกิดที่ร่างกายเรานี่ เราไม่สามารถจะช่วยอะไรเขาได้ อย่างเช่น ทุกข์ที่เกิดจากความพิการ ความแก่ หรือความเสื่อมสลายไปของร่างกายเรา อันนี้เราแก้ไขไม่ได้เพราะไม่อยู่ในอำนาจของเรา เราก็ทำหน้าที่รับรู้รับทราบไว้ เฉย ๆ แต่ต้องไม่เข้าไปเป็นทุกข์ทุกเมื่อ อันนี้คือทางด้านร่างกาย ส่วนทางด้านจิตใจนี่ ทุกข์ที่เกิดทางด้านจิตใจ อันนี้สำคัญมากเป็นคู่ปรับที่สำคัญของชีวิตเราทุกคน ทุกข์ที่เกิดทางด้านจิตใจก็คือความคิดนั่นเอง ความคิด ความคิดไม่ใช่จิต แต่ความคิดเป็นเพียงอาการของจิตใจ ความคิดอาศัยจิตใจเกิดขึ้น เป็นนามธรรม ความคิดไม่มีตัวไม่มีตนแต่ว่ามีอิทธิพลสำหรับเรามาก เพราะความคิดนี่แหละคือผู้ที่บงการชีวิตเราอยู่ ทำให้เราได้จับตัวผู้บงการชีวิตเราได้ ก็คือเจ้าความคิดนี่เอง โดยเฉพาะความคิดที่เราไม่ได้ตั้งใจคิด ก็มักจะผุดขึ้นมาเป็นครั้งคราว คิดขึ้นมาแล้ว ทำให้เกิดความพอใจบ้าง ไม่พอใจบ้าง เป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง เกิดกิเลส เกิดความยึดมั่นถือมั่น เพราะความคิด จะทำให้จิตใจเสียความเป็นปกติไป เป็นทุกข์เพราะความคิด อันนี้แหละคือตัว สมุทัย คือเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์มีอะไร ก็ต้องมีหน้าที่ละทันทีเลย เรามาจัดการที่เหตุตรงนี้เลย แต่ว่าความคิดที่มีประโยชน์นี่ก็มีนะ เราใช้ได้ เราหยิบใช้ได้ อย่างเช่นความคิดที่เราตั้งใจคิดขึ้นมา คิดเป็นเรื่อง ๆ เป็นราว ๆ ให้เสร็จลงไป เป็นการจับเอาความคิดมาใช้ มีสภาพที่เป็นนายเหนือความคิด คิดด้วยสติปัญญา ที่รู้เท่าทันในอาการ ต่าง ๆ และถ้าเราคิดอย่างเป็นระเบียบ คิดแล้วใจเราเป็นปกติได้ นั่นคือความยึดมั่นถือมั่นสามารถปล่อยวางได้ คือเมื่อเราจะหยุดคิดก็หยุดได้ ไม่ต้องไปรอเมื่อไรก็เพราะความคิดเห็น คือเราคิดขึ้นมาแล้วนี่ ถ้าเราไปทำ ไปพูดก็มีแต่จะเกื้อกูลกับคนทั่วไป ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตัวเอง และก็ผู้อื่นให้เดือดร้อน อันนี้คือความคิดที่เป็นประโยชน์ และไม่เป็นทุกข์
ทีนี้พอเรามาจัดการกับที่เหตุของความทุกข์แล้ว คือละเจ้าตัวความคิดที่มันปรุงแต่งเป็นใยยุ่งออกไปจากจิตใจเราได้ ทำให้จิตใจเรานี่เป็นอิสระขึ้นมาทันที จิตจะไม่ตกไปเป็นทาสของความคิดไม่ว่าชนิดใดก็ตาม จิตจะเป็นปกติตามธรรมดา สติคือวิชชา ที่จะทำให้ไปล้างตัวอวิชชาให้หมดไปจากจิตจากใจเรา นี่ถ้าใครปฏิบัติอย่างนี้ก็ต้องเห็นอย่างนี้ เพราะว่า ธรรมะแท้นี่ ต้องรู้ ต้องเห็นในสิ่งเดียวกัน ธรรมะแท้นี่ต้องรู้กันได้ แล้วก็เห็นกันได้ สติที่เราพยายามสร้างขึ้นมานี่แหละญาติธรรม จะช่วยคุ้มครองดูแลกายและจิตของเราให้เป็นปกติ ไม่ให้ตกไปสู่ในโลกที่ชั่ว โดยเฉพาะที่จิตใจเรานี่ เป็นสิ่งที่สำคัญมาก สติจะทำหน้าที่เป็นครูสอนจิตเราเป็นอย่างดี ยามใดที่มีความโกรธมากระทบจิตใจเรา สติก็จะทำหน้าที่สอนจิตทันที สอนว่า เจ้าความโกรธนี่ ตามอะไรไม่ได้ เมื่อไรมีความโกรธมากระทบทีไร จิตใจเราก็เหน็ดเหนื่อย กระวนกระวาย ไม่ค่อยปกติ เวลามีความโกรธกระทบทีไร จิตใจเราต้องร้อน ร้อนทุกที แล้วก็ตกนรกทุกทีเหมือนกัน จิตนี่เมื่อถูกสอน บ่อย ๆ บ่อย ๆ เข้า จิตจะเกิดประสบการณ์ มันจะเห็นทุกข์เห็นโทษของความโกรธ มันก็ไม่อยากโกรธแล้ว บางทีก็ตีกับความโกรธเป็นความรักไปเลย เป็นความเมตตาไปเลย
หลวงพ่อคำเขียนท่านก็เคยสอนไว้ว่า คนมีสตินี่ เท่ากับมีพระพุทธเจ้าอยู่ในตัว คนมีสตินี่ เหมือนกับมีพระพุทธเจ้า ทรงช่วยคุ้มครองดูแล จึงเกิดมีพระขึ้นในจิตในใจเรา เราเป็นพระได้ที่ใจเรา เพราะเรามี พระสติ จึงไม่จำเป็นต้องไปคล้องพระเครื่องรุ่นไหนก็ได้ ให้เราคล้องพระสตินี่ คล้องไปที่จิตที่ใจของเรา ผมเชื่อว่าจะศักดิ์สิทธิ์ดีนัก เพราะว่าช่วยได้ทั้งกันทั้งแก้ปัญหา ต่าง ๆ ได้อย่างแท้จริง สติที่อยู่กับปัจจุบันนี่ญาติธรรม มันจริงที่สุดเลย ถ้าชีวิตของเราทุกคนนี่ คิดจริง ๆ เลย ก็คิดปัจจุบันนี้เท่านั้น เราจะหาคุณค่าและก็สาระชีวิตของเรานี่ก็ตรงที่ปัจจุบันนี่ ไม่ใช่อดีต ไม่ใช่อนาคต และเมื่อเราเข้าใจตัวเอง เห็นตัวเองได้ชัดเจนขึ้น สามารถอ่านตัวเราออก บอกตัวเราได้ ใช้ตัวเราเป็น ชีวิตจะไม่หงอยเหงา และก็ไม่ซึมเศร้าด้วย มันจะสดใส แล้วก็ใหม่ทุกวัน ด้วยอำนาจของพระธรรม เพราะว่าธรรมะนี่ ใครทำใครได้ ธรรมะนี่ทำแทนกันไม่ได้
วันนี้ผมจึงอยากจะเชิญชวนญาติธรรม ลองมาสนใจเรื่องการเจริญสตินี่ดูก่อน โดยที่ไม่ต้องไปศึกษาจากตำรับตำราที่ไหน ตำราเราอ่านมามากแล้ว ไม่เห็นมันจะดับทุกข์ให้เราได้จริงจังสักที สู้ว่าเรามากระทำลงไปที่กายเลย เราจะเคลื่อนไหวด้วยวิธีใดให้มีสติตามรู้ ให้ต่อเนื่อง เป็นขณะ ๆ ให้มีปัจจุบันที่กาย ทำได้ทุกคนเลย ง่าย ๆ คนพิการยังทำได้ นี่ถ้าคนพิการบอกว่าง่ายแล้วก็ คนที่มีร่างกายเป็นปกติย่อมไม่เหลือวิสัยจะปฏิบัติได้ ถ้าเรายังมีกายที่เคลื่อนไหวได้ แล้วก็มีสติตามรู้อยู่ละก็ เท่ากับว่าท่านนี่ได้เจริญสติแล้ว ได้ปฏิบัติธรรมในขั้นสูงสุดในทางพระพุทธศาสนาแล้ว เราทำให้มาก ทำบ่อย ๆ ทำจนชนิด นาน ๆ ท่านก็จะไม่มีความทุกข์เหลือ นี่ถ้าจะเปรียบนะ สติที่เราสร้างขึ้นมานี่เปรียบเสมือนเจ้าตัววัคซีนที่มันอยู่ในจิตในใจเรา เอาไว้ต่อสู้กับเจ้าตัวเชื้อโรค คือกิเลสและความทุกข์ ที่จะมาเบียดเบียนเรา พุทธสุภาษิตกล่าวไว้ว่า คนมีสตินี่ ย่อมประสบกับความสุข แต่จะสุขแบบใดหรือขนาดไหนนั้นนี่ อยากจะเชิญท่านลองสัมผัสดูนะ แล้วสิ่งที่ผมได้กล่าวมานี้ ต้องขออภัยญาติธรรมเป็นอย่างมาก ผมไม่มีเจตนาที่จะมาสอนญาติธรรม คนพิการมิบังอาจจะทำเช่นนั้นได้ แต่เพราะว่าได้ปฏิบัติแบบนี้ แล้วก็ใช้กับตัวเองได้ผล จึงได้มาทำหน้าที่เป็นสื่อ เป็นอุปกรณ์ หรือเป็นปากให้พระธรรมก็ได้ เพื่อญาติธรรมจะได้เรียนรู้แล้วก็นำเอาไปปฏิบัติให้เป็นประโยชน์ขึ้นบ้าง เพราะบางทีอาจจะถูกจริตกับใครบางท่านที่นั่งอยู่นะที่นี้ก็ได้ ก็ถือเป็นการมาเล่าสู่กันฟังก็แล้วกัน
ก็เห็นว่าสมควรแก่เวลา ท้ายที่สุดนี้ ขอความเจริญและความผาสุก ความมีปัญญา นำพาตนให้พ้นไปเสียจากความทุกข์ ถึงสุขอันไพบูลย์ กล่าวคือ มรรค ผล นิพพาน จงได้บังเกิดแก่ญาติธรรมทุกท่าน ทุกคนเทอญ (สาธุ)
a8a8a8a8a8a8a8a8a8a
ขอบพระคุณท่านอาจารย์กำพลเป็นอย่างสูง ท่านมาวันนี้มาให้ดู แล้วก็มาอยู่ให้เห็น สังเกตท่านดูว่า ตลอดเวลาที่ท่านพูด ท่านมีอารมณ์โกรธ หรือว่ามีอะไรอยู่หรือเปล่า แสดงถึงความมีสติของท่าน เมื่อปีที่แล้วคุณพ่อมาด้วย แต่ปีนี้ขอแจ้งให้ผู้เข้าร่วมรับฟังทุกท่านทราบว่าคุณพ่อได้ถึงแก่กรรมแล้ว ปีนี้จะมีคุณแม่มาแทน นั่งอยู่ข้างหลังค่ะ ช่วงนี้คงจะเป็นการเปิดโอกาสให้ทุกท่านได้สอบถาม ตั้งคำถาม ถ้าท่านใดมีคำถาม กรุณาถามได้เลยค่ะ ถามอาจารย์กำพลว่า อย่างเมื่อปีที่แล้ว คุณพ่อมาด้วยนะคะ คุณพ่อได้ถึงแก่กรรมไป อาจารย์ทำใจอย่างไร เพราะทุกคนต้องประสบปัญหาแบบนี้ เรียนถามค่ะ ตอบ ทีจริงแล้ว คุณพ่ออยู่กับผม ทุกครั้งที่เห็นคุณพ่อนี่ ผมก็คิดว่าท่านเสียแล้ว นึกในใจว่า มีความคิดว่าเราต้องจากกันอยู่แล้ว ทำใจไว้ก่อนแล้ว ทำใจไว้ล่วงหน้าแล้ว ตอนนี้มีคุณแม่อยู่ก็คิดว่า เหมือนอย่างกับไม่มีก็ได้ ทำใจไว้แล้วว่า ชีวิตนี้ต้องจากกัน เป็นเรื่องธรรมดา การทำใจไว้ก่อนนี่ เท่ากับเป็นการที่มีวัคซีนอยู่ในตัวเหมือนกัน ดูว่าเขาต้องจากไป คนเราอยู่กันชั่วขณะหนึ่ง อยู่กันชั่วปัจจุบัน ถ้าเราไม่เจอกันเราก็ต้องจากกัน การทำใจว่าต้องจากกันอยู่ทุกครั้งทุกบ่อยนี่ มันทำให้เราเริ่มจะปลง รู้จักปล่อยวาง เห็นเป็นเรื่องธรรมดา จึงไม่ได้มีความเสียใจ
ถาม ทุกท่านก็ให้เตรียมสร้างสติไปเรื่อย ๆ นะคะ เพราะว่า สติถ้าไม่สร้างไว้ ถ้านึกจะใช้เรียกมาทันทีมาไม่ได้อย่างที่คุณหมอกำพลได้บอกไว้ สำหรับคำถามของคุณหมอกำพลนะคะ
@ ถาม ถามคุณหมอกำพล ตอนที่เริ่มต้นฝึก ใหม่ ๆ นี่ ท่าฝึกแบบวิธีการเจริญสติ แบบหลวงพ่อเทียน ไม่สง่างามเลยค่ะ ยกมือขวักไขว่ไปมา เวลาฝึกต้องแอบไปทำหรือเปล่าคะ (เทปจบม้วนที่ 1)
@ ตอบ ตอนรู้จักวิธีการเจริญสติแบบหลวงพ่อเทียน แต่เราก็รู้สึกตัวได้อย่างนี้เป็นต้น หลวงพ่อคำเขียนบอกว่า เห็นความคิดได้ ออกจากความคิดได้ แล้วเป็นคนโกรธก็ได้ เป็นผู้เห็นความโกรธได้ มันก็ตรงกับประสบการณ์ที่เราเคยเจอมา เลยมั่นใจว่า สิ่งตรงนี้ถ้าเราทำให้มาก มันย่อมช่วยเราได้อย่าง จริง ๆ แล้วก็เพื่อได้ต่อเนื่องมากขึ้นก็เลยตั้งใจที่จะทำให้มาก ถึงขั้นที่เรียกว่าลาออกจากราชการอีกรอบหนึ่ง เพื่อที่จะไปอยู่วัดและปฏิบัติกันจริงจัง ทีนี้ถามว่าต้องแอบไปทำมั้ยนี่ จริง ๆ แล้วการเคลื่อนไหวทุกสิ่งนี่เราสามารถใช้เป็นการเจริญสติได้ทั้งสิ้นนะครับ ผมนั่งอยู่นี่ ผมนั่งเขี่ยมือผมเล่นนี่ ผมรู้สึกตัวอยู่ก็ได้ ท่านญาติธรรมนั่งอยู่ เอามือเกาขาเล่นอย่างนี้ก็ได้ เอามือขยี้นิ้วนี้ก็ได้ เพื่อเป็นการเคลื่อนไหวแล้วเราก็กำหนดรู้ แม้แต่ลมหายใจ เรานั่งนิ่ง เราก็หายใจเข้ารู้สึก หายใจออกรู้สึก เพราะความรู้สึกตัวไม่มีอะไร มันทำได้ทุกที่ ทุกสถานที่ นั่งรถเมล์อยู่ติดไฟแดง ทุกทีเราคิดโน่นคิดนี่ กายอยู่นี่แต่ว่าใจถึงบ้าน หรือว่านัดกับเพื่อนไว้ไปไม่ทัน กลัวเพื่อนจะด่า คิดไปเรื่อย เรานั่งรู้สึกอยู่กับการเคลื่อนไหว ทำอะไรรู้สึก กำคลาย หรือเขย่าขาเล่นก็ได้ เพราะฉะนั้นจริง ๆ แล้วการเจริญสตินี่ ง่ายอย่างยิ่ง ถ้าเรารู้จักทำ รู้จักทำ แต่ในขั้นตอนของการฝึกที่เป็นเขาเรียกว่าลงสนามซ้อมจริง ๆ แล้วนี่ ก็คือการยกมือเคลื่อนไหวเป็น จังหวะ ๆๆ ซึ่งมีรูปแบบที่หลวงพ่อเทียนบอกไว้ เขาเรียกว่าแบบฝึกหัด มันอาจจะดูไม่ค่อยเรียบร้อย ถ้าใครเห็นครั้งแรกอาจจะไม่ค่อยประทับใจก็ ถ้าเคยนั่งแต่ความสงบ ทำความสงบมา นั่งทำความสงบดูเคร่ง ดูขรึม ดูเขาเรียกอะไร ดูเข้าท่า น่าศรัทธา น่าเลื่อมใส แต่ถ้าเป็นแนวหลวงพ่อเทียน ยกมือไป เอามือมา จังหวะ พลิกมือรู้สึก ยกมือขึ้นรู้สึก เอามือมาวางไว้หน้าสะดือรู้สึก พลิกมือซ้ายขึ้นรู้สึก ยกมือซ้ายขึ้นรู้สึก เอามือซ้ายมาวางทับมือขวารู้สึก เคลื่อนมือขวาขึ้นรู้สึก กางออกรู้สึก เอามือวางไว้หน้าขารู้สึก คว่ำมือลงรู้สึก เลื่อนมือซ้ายขึ้นรู้สึก กางมือออกรู้สึก วางมือซ้ายลงรู้สึก คว่ำมือลงรู้สึก ในแต่ละรอบมันจะจบที่ประมาณ 14 รู้สึก ฉะนั้นทุกรู้สึกมีความรู้สึกเท่า ๆ กัน มีน้ำหนักเท่ากันคือ 1 ความรู้สึก นี่คือรูปแบบของการฝึก นี่คือรูปแบบของการฝึก เพราะฉะนั้นตอนเราฝึก เราก็ไม่ต้องไปทำให้ใครเห็นเพราะว่ามันจะสร้างความขุ่นเคืองตาให้กับคนอื่นได้ เพราะฉะนั้นถ้าเราจะทำเราก็ไปทำอยู่ในห้องเวลาอยู่คนเดียว หรืออะไรอย่างนี้ หรือว่าถ้าเกิดเราอยู่ในคนหมู่มาก อย่างเมื่อวานผมรอรถไฟอยู่ ผมไปนั่งสร้างจังหวะเดี๋ยวชาวบ้านนั่งมอง นั่งเสกอะไรอยู่ ผมก็เดินเล่น เดินไปเดินมา เดินไปเดินมา มองไปเรื่อย ๆ แต่ว่าตาเราไม่ได้ไปจริงหรอก ตาในเราอยู่ที่เท้า เดินไปเดินมา เดินไปเดินมา ใช้เวลาให้เป็นประโยชน์นะครับ เพราะฉะนั้น ถ้าเรามีความมั่นใจในแนวทาง แล้วเราทำเป็นแล้วนี่ อยู่ที่ไหน อยู่อย่างไร ผมถึงบอกว่า มันสามารถที่จะนำไปใช้กับการทำงานได้จริง ๆ ใช้ได้จริง ๆ ถ้าเอาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไว้ได้นี่ เราก็จะอยู่กับสติ อยู่กับพระสติ อย่างที่อาจารย์กำพลว่า พระองค์นี้ศักดิ์สิทธิ์ ช่วยให้เราไม่โกรธได้ ช่วยให้เราไม่หลงได้ นะครับ ช่วยให้เราทำงานอย่างราบรื่นได้ ด้วยอำนาจของสติ เพราะฉะนั้นไม่ต้องอาย ถ้าจะฝึก บางทีมันอาจจะดูเคอะเขินบ้าง ในช่วงแรก แต่เมื่อทำเป็นแล้วเราไม่ต้องทำอย่างนั้นก็ได้ นั่งพลิกมือเล่น อย่างอาจารย์กำพลเวลาฝึกที่บ้าน อาจารย์กำพลก็พลิกหงายรู้สึก พลิกคว่ำรู้สึก พลิกหงายรู้สึก พลิกคว่ำรู้สึก ทำแค่นี้ ไม่ต้องยกมืออย่างเราก็ได้ แม้แต่การกระดิกหูของอาจารย์ก็เป็นการเจริญสติได้ อย่างที่อาจารย์เคยทำให้ดูนะครับ
@ ถาม ขอเรียนถามอาจารย์กำพลนะคะ อย่างเวลาที่เราฝึก เวลาที่เคลื่อนไหว สร้างจังหวะหรือว่าเดินจงกรมก็ตาม การที่จะเดินช้าหรือเร็วนี่มีผลอย่างไรบ้างคะ
@ ตอบ การเดินจงกรมเดินช้าหรือเดินเร็วนี้ ขึ้นอยู่กับจริตของแต่ละคน การปฏิบัติก็เพื่อ ให้มีสติ ให้มีความรู้สึกตัว ถ้าเราเดินจงกรมช้า แล้วเรารู้สึกตัว อันนั้นคือเรา ถ้าเราเดินจงกรมเร็ว แล้วเรารู้สึกตัวอันนั้นคือเรา ถ้าเดินจงกรมช้า แล้วความคิดดีอันนั้นคือเรา ที่ว่าสติจะได้เจริญกับความคิดเจริญ ต้องขึ้นอยู่กับความถนัดของเรา แล้วการเดินจงกรมช้าหรือเร็วนี่ มีวิธีการแก้อยู่อย่างคือ ถ้าเดินช้าแล้วความคิดมันดี อันนี้ก็ไม่ถูก เราเปลี่ยน เดินให้มันเร็วขึ้น ความคิดจะได้น้อยลง แล้วสติจะดีขึ้น ขึ้นอยู่กับจริตและก็นิสัยของเรา
@ ถาม ถามอาจารย์กำพล ที่บอกว่า เราปฏิบัติธรรมแล้วก็สมควรแก่ธรรม คืออย่างไรคะ
@ ตอบ คือธรรมะนี่ เป็นหลักแห่งการเห็น พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ถ้าเราปฏิบัติตรงตามที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้นี่ คือการปฏิบัติแบบสมควรแก่ธรรม อย่างเช่น ทำสติปัฏฐาน 4 เราปฏิบัติ มีอยู่ข้อหนึ่งว่ากายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ถ้าเราสามารถเจริญสติเห็นกายในกายได้ เห็นกายสักแต่ว่ากายไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา ปล่อยวางกายได้ นั่นแหละการปฏิบัติแบบสมควรแก่ธรรม เราเจริญสติแล้วทำให้จิตเราเกิดปัญญา รู้แจ้ง เห็นจริงตามธรรมชาติต่อสิ่งทั้งหลายทั้งปวง นั่นหละคือธรรมะ ถ้าเราปฏิบัติถึงตรงนั้นแล้วเท่ากับเราปฏิบัติถึง ธรรมที่สมควรแก่ธรรม
@ ถาม ถามต่ออีกนิดค่ะ ที่บอกเห็นกายในกาย เห็นแบบไหนคะ
@ ตอบ คำว่าเห็นกายในกายก็คือ เห็นกายที่มีอยู่ในตัวเรา เห็นกายที่มีอยู่จริงในตัวเรา เห็นสักว่าเป็นกาย ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา เป็นสักแต่ว่าธรรมชาติอย่างนั้นเอง นั่นหละคือการเห็นกายในกาย คือเห็นแล้วไม่ยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวเราของเรา
@ ถาม ขอกลับมาถามคุณหมอกำพลบ้างนะคะ วันนั้นที่โทรศัพท์มา ท่านถามว่าดิฉันสบายดีมั้ย ดิฉันก็บอกดิฉันสบายดี นอนหลับดี ไม่เคยตื่นกลางคืนเลย ไม่ค่อยมีความทุกข์ แล้วท่านก็ ไม่รู้กล้าดียังไงนะคะมาว่าดิฉันว่าดิฉันหลง อยากทราบว่าเพราะอะไร แล้วที่รู้รู้อยู่ตลอดเวลานี่ ชีวิตไม่จืดชืดแย่หรือคะ
@ ตอบ ก็อย่างที่เคยบอกไปว่า ฉันเป็นคนดีก็พอแล้วอย่างนั้น เป็นคนดี อยู่เป็นสุข นอนหลับสบาย นอนหลับไม่ฝัน เทวดาคุ้มครอง พระคุ้มครอง หลับสบายดี นอนกลางคืน 4 ทุ่ม ตื่น 7 โมงเช้านี่ กี่ชั่วโมง อย่างที่ยกตัวอย่าง ที่ผมอ่านเจอในปฏิปทาของหลวงพ่อชา หลวงพ่อชาเดินผ่านไป พบพระภิกษุที่บวชเป็นชาวตะวันตก ท่านถามว่าเป็นอย่างไรบ้าง พระภิกษุตะวันตก นั้นก็ตอบว่า สบายดีครับ แทนที่หลวงพ่อชาจะพูดอะไรอย่างอื่น หลวงพ่อชาบอกว่า ปฏิบัติธรรมสบายดีไม่ดี ปฏิบัติธรรมสบายดีไม่ดี เพราะว่าที่มันสบายดี มันทำตามกิเลส ถ้าเราทวนกิเลสหรือว่าทวนกระแส กิเลสมันต้องเดือดร้อน ทุกข์มันต้องเกิด ถูกมั้ย แต่ว่าทุกวันนี้นี่ เราไหลไปตามกระแส ไหลไปตามความหลง ไหลไปตามความคิด มันสั่งให้เรานอน เราก็นอน มันสั่งให้เรานอน เจ็ดชั่วโมง ไม่ต้องลุกขึ้นมาทำอะไรเลย หลับใหล หลับใหล ไม่ใช่หลับลึกนะ หลับใหล คือ จริง ๆ ผมคิดว่ากับพี่นี่ เป็นบุคคลที่จริง ๆ แล้วถ้าจะเรียกว่ากระตุ้นได้ง่าย เพียงแต่ว่า พี่เขายังไม่ค่อยลงมือทำอย่าง จริงๆ จัง ๆ แต่ว่าสนใจทำ ก็เลย จริง ๆ วัตถุประสงค์อยากกระตุ้นให้พี่เขาตื่น ตื่นจากความหลับ หรือว่าอาจจะเรียกว่าตื่นจากความหลงก็ว่าได้ ให้กลับมาตื่น ตื่นรู้ ตื่นรู้ นี่คือสภาวะที่เรียกว่า พุทธะ เพราะฉะนั้น อย่า อย่าหลับใหล อย่าหลับใหล ให้หลับแล้วก็ลุก ลุกแล้วก็ตื่น ไม่ทราบจะตรงหรือเปล่า
@ ถาม กราบนมัสการหลวงพ่อคำเขียน คือหนูอยากจะทราบว่าเรื่องของโมหะ คือความหลง เราไม่รู้ตัวเองอย่างนี้ค่ะ ว่าอันนี้ หลับแล้ว ยกตัวอย่างที่คุณหมอกำพลพูดเมื่อกี๊นี้ เราไม่ทราบว่าตรงนี้มันไม่ถูกหรือมันเป็นความหลงหรือเปล่า โดยเฉพาะหลงตัวเอง จะแก้อย่างไร มีวิธีการอย่างไรเจ้าคะ
@ ตอบ โมหะคือความหลง ถ้าเปรียบกับนิ้วมือเราสามนิ้ว (นิ้วชี้ นิ้วกลาง นิ้วนาง) โมหะมันจะอยู่ตรงกลาง มันสูงกว่าเขาหรือใหญ่กว่าเขา ถ้ามีโมหะโกรธได้ ถ้ามีโมหะก็โลภได้ เพราะมันมีอำนาจ โมหะมันอยู่ตรงกลาง มันไม่ใช่เข้าแถว โลภะ โทสะ โมหะ ตามที่หลวงพ่อเห็นนะ ไม่ใช่คิดเห็น พบเห็น จริง ๆ มันเหมือนนิ้วมือ โมหะมันสูง มันใหญ่ด้วยนะ โกรธก็ได้ โลภก็ได้ รักได้ ชังได้ มันอยู่ตรงกลาง เพราะฉะนั้นวิธีที่เอาชนะโมหะหลวงพ่อว่า ง่ายนิดเดียว หลวงพ่อก็บอกแล้วว่า ชีวิตเรามี ตัวรู้กับตัวหลงใช่มั้ย ใช่มั้ย ตอบดูซิ มีตัวรู้กับตัวหลง เท่านี้เอง ถ้ารู้สึกตัวมันจะหลง หลงก็แก้ได้ หลวงพ่อเรียกว่านี่คือนักภาวนา นักขยันรู้ มันจะไปไหน ตัวหลงนี่ ถ้าเรารู้ เวลาไปมันก็เกิดไม่ได้เพราะตัวรู้มันเป็นธรรม ธรรมย่อมชนะอธรรมตลอดเวลา อย่าไปกลัวนะโมหะ ถ้ามันเกิดอะไรขึ้น ก่อนที่มันจะสำคัญมั่นหมายไปเอง เข้าข้างตัว คือเรายังไม่ได้หลัก ถ้าเราได้หลักของการทำ ของอาจารย์กำพลอธิบาย กายก็สักว่ากาย เห็นกายสักว่ากาย สักกายทิฏฐิ เห็นกายเป็นกายไม่เห็นเป็นอื่น ความทุกข์ของกายมันก็ย่อมเป็นความทุกข์ของกาย ความร้อน ความหนาวเป็นเรื่องของความร้อนความหนาว ไม่ใช่ตัวเรา เห็นอย่างนี้ เห็นกาย เห็นจริง ๆ เห็นแจ้งจนตอบได้ว่าเห็นกายเป็นกาย ไม่เห็นเป็นกู ถ้าเห็นเป็นกูก็เป็นดุ้นเป็นก้อน การเห็นว่าเป็นกายนี่ มันก็กาย มันก็มีธรรมชาติ ถ้ากายร้อนไม่เป็นมันก็ไม่เป็นกาย หนาวไม่เป็น หิวไม่เป็น ยุงกัดไม่เจ็บมันก็ไม่เป็นกาย ขอบคุณมันที่มันหิว ขอบคุณมันที่มันร้อนมันหนาว ขอบคุณมันที่มันเจ็บด้วย ถ้ายุงกัดไม่เจ็บอะไรจะเกิดขึ้น ไฟไหม้ไม่เจ็บอะไรมันจะเกิดขึ้น ผิดปกติแล้ว ถ้ายุงกัดมันเจ็บ โอ๊ หิวมันหิว โอ๊ ขอบคุณ หิว โอ๊ ดี แสดงว่าร่างกายเรา ปกติที่สุด ถ้าไม่หิว จะอันตราย บางคนไปเป็นทุกข์เพราะความหิว อ้าว เป็นทุกข์ทำไมความหิว มันปกติที่สุดแล้ว ร่างกายเรา มีหลายคนเป็นทุกข์เพราะความหิว มีมั้ย มี หลวงพ่อเคยเป็นมาก่อน เดี๋ยวนี้หลวงพ่อเปลี่ยนโฉมหน้า พอหิวดีใจ ชื่นใจ อายุ 66 ปีแล้วยังหิวข้าว โอ๊ย ชื่นใจ บางคนหิวข้าวใจห่อเหี่ยว โกรธแม่บ้าน โกรธลูก โกรธเต้า ไม่ต้องไปคิดว่ามันเปลี่ยนนะ นี่คือไม่หลง ให้เห็นจริง ๆ เห็นกาย อะไรมันแสดงว่าเป็นกาย ให้แค่ หลวงพ่อบอกเมื่อตะกี้ว่า เห็นอาการ มันร้อนเป็นอาการ มันหนาวเป็นอาการ มันหิวเป็นอาการ อาการของกาย นั่นเห็นกาย จริง ๆ ตัวสติมันจะเห็น มันจะเห็นรูปเห็นนามนะ ที่พูดนี่ ไม่ใช่อารมณ์ของกรรมฐาน ผู้ที่จะได้อารมณ์ พอรู้สึกตัว ไปเห็นการเกิด 1 วัน 2 วัน โอ้ มันเคลื่อนไหวนี่รูป มันคิดมันรู้มันเป็นนาม พอเห็นเป็นรูปเป็นนามเข้าแถว เห็นรูปเห็นนามจะเห็นชัด มันจะเข้าแถวมา การเกิดอารมณ์ของกรรมฐาน เห็นแจ้ง จริง ๆ จนละกายได้ท่านเรียกว่า พระโสดาบัน พระโสดาบันก็คือสักกายทิฏฐิ ทำลายทิฏฐิอันตัวสำคัญมั่นหมายในกาย เป็นร้อนเป็นทุกข์ หนาวเป็นทุกข์ หิวเป็นทุกข์ ทำลายได้ ร้อนไม่เป็นทุกข์ หนาวไม่เป็นทุกข์ หิวไม่เป็นทุกข์ คือสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉาไม่สงสัยเรื่องกาย ต่าง ๆ สีลพตปรามาส ไม่ยึดในสิ่งที่ทำให้เกิดทุกข์ สิ่งไหนที่ทำให้เกิดทุกข์เกิดโกรธ ปล่อย คลายทันที มันก็ไม่เหลือวิสัยที่เราจะทำ เพราะฉะนั้นก็ขอตอบได้เลยว่า ตัวโมหะตัวนี้มันก็มีอยู่แล้ว สร้างตัวรู้ตัวนี้ ไม่ต้องไปคิดหาเหตุหาผลอันใด สร้างตัวรู้ เข้าใจไปคิดเลยทีเดียว ความรู้สึกตัวนี่แหละ มีตัวรู้กับตัวหลง เอาจริง ๆ แล้วไม่มากหรอก ไม่เหลือวิสัยที่เราจะทำได้
@ ถาม ขอเรียนถามหลวงพ่อนะคะ ถ้าเราตามรู้ว่าตอนนี้เรากำลังทุกข์ หรือว่าเรากำลังโกรธ แล้วหลังจากนั้นเราต้องทำอะไรต่อไปหรือว่ารู้ เฉย ๆ
 @ ตอบ ความโกรธ พอมันโกรธลองมองตรงกันข้าม ไม่โกรธ พอรู้สึกตัว สมมติว่ามันโกรธ อารมณ์โกรธนี่ ถ้าเราไม่ให้แนวร่วมกับมัน มันจะอยู่ได้ไม่นาน เรามีวิธีหลายอย่าง เช่น หายใจเข้าลึก ๆ หายใจออก ยาว ๆ แล้ว อย่าพูดในเวลาโกรธ ให้มีสติ มีความรู้สึกตัว อันนี้ก็ ไปเก็บตัวหน่อยความโกรธ มันเข้าถึงตัวเราแล้ว เหมือนคนเป็นโรคต้องไปรักษา นั้นวิธีที่เราฝึกสร้างตัวรู้สึกตัว ยามสงบเราฝึก ยามศึกเรารบได้ เหมือนกับเราป้องกัน แต่ว่าให้มีกำลังใจสักหน่อยพอมันโกรธ อย่าพูดเวลาโกรธ อย่าแสดงออก ให้สงบ ให้มีความรู้สึกตัว …. อย่าไปลำดับ เขาว่าอย่างนั้นเขาว่าอย่างนี้ ทำไมจึงพูดอย่างนั้น ทำไมจึงพูดอย่างนี้ อย่าไปลำดับ สร้างความรู้สึกตัว ให้หายใจเข้าลึก ๆ หายใจออกยาว ๆ สักสิบรอบ ความโกรธมันก็จะสร่างซาลงหรือหายไป แต่คนเราถ้าได้โกรธแล้ว มันรีบนะ ไม่ค่อยเย็นไม่ค่อยช้า รีบไปไหน รีบไปด่ากัน ทำไมจึงรีบไปด่ากัน กลัวมันจะใจดีก่อน จะไม่ได้ด่ากัน มันก็รีบ ถ้าเราเย็นไว้ เย็น ๆ ไว้สักหน่อย มันไม่มีตัวมีตนจริง ๆ ความโกรธ มีหวังชนะ
a8a8a8a8a8a8a8a8a8a
คิดว่าสมควรแก่เวลาแล้วนะครับ หลวงพ่อทั้งบรรยายทั้งตอบคำถาม ให้พวกเราได้เข้าใจ และสามารถที่จะนำไปปฏิบัติ วิทยากรทั้ง 3 ท่าน ทั้งหมดก็ได้ให้ความรู้ ความเข้าใจ และแนวทางปฏิบัติด้านธรรมะ สุดท้ายจะขอพรจากหลวงพ่อนะครับ ก่อนที่จะถึงช่วงนั้นนี่ ก็คิดว่าทุกท่านที่มาร่วมรับฟังในที่นี้ ก็คงได้รับประโยชน์ การได้ฟังธรรมะถือว่าเป็นมงคลชีวิตอย่างหนึ่ง เราเติมบุญเข้าไปในชีวิตของเรา แล้วคนที่เติมสิ่งที่ ดี ๆ ในชีวิตของเราก็คือ ต้องกราบขอบพระคุณหลวงพ่อคำเขียน สุวัณโณ ที่ท่านเมตตาอย่างมากที่ได้มาให้ความรู้ ให้การปฏิบัติแก่พวกเรา และก็กราบขอบพระคุณพระอาจารย์เอนก เจ้าอาวาสวัดโมกข์ที่ท่านก็ได้มาร่วมในพิธีทำบุญอุทิศส่วนกุศล และก็มีพระในวัดของท่านที่มาเป็นปฏิคาหกให้พิธีการวันนี้ด้วย ขอขอบพระคุณนายแพทย์กำพล ผู้ส่งข่าวของเรา และก็ขอบพระคุณอาจารย์กำพลที่บรรยายธรรมะและเป็นอุปกรณ์ธรรมะให้พวกเราศึกษาอย่างดี ขอบคุณทีมงานทุกคนที่ร่วมมือ ร่วมใจ ขยันขันแข็งในการเตรียมงาน และก็เสียสละแรงกายแรงใจที่มาทำงานร่วมกัน ทำบุญร่วมกัน คือคณะทำงานของอุทิศส่วนกุศลนี้นะครับ ขอขอบคุณสมาคมศิษย์เก่าแพทย์ขอนแก่นที่ให้สถานที่ รวมทั้งเป็นผู้สนับสนุนด้วย และก็ขอบคุณผู้ฟังทุกท่านที่มาในวันนี้ ซึ่งทุกท่านก็คงจะได้รับฟังเรื่องที่เกี่ยวกับความมหัศจรรย์แห่งการเจริญสติ สิ่งที่สำคัญที่สุดคืออะไร สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ ทุกคนต้องสร้างความมหัศจรรย์แห่งการเจริญสติที่ตัวของท่าน ทุก ๆ คนเอง นะครับ (จบ)
จากคุณ : พรรณี [ 16 มี.ค. 2546 ]
Thailand Web Stat

0 ความคิดเห็น: