Ads 468x60px

วันอาทิตย์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

การฟ้องร้องคดีทางปกครองกับหน่วยงานของรัฐ ที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในมาบตาพุด

การฟ้องร้องคดีทางปกครองกับหน่วยงานของรัฐ ที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในมาบตาพุด
                 ซึ่งเมื่อหลายเดือนก่อนศาลปกครองเพิ่งจะพิจารณาคดีเกี่ยวกับการประกาศพื้นที่บางส่วนในเขต
จังหวัดระยองรวมถึงพื้นที่มาบตาพุดให้เป็นเขตควบคุมมลพิษ ขณะนี้ ก็มีการฟ้องร้องต่อศาลปกครองให้มีการ
เพิกถอนรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมกว่า 70 โรงงานในเขตพื้นที่มาบตาพุดอีก เรามาศึกษากัน
ว่า มูลเหตุแห่งการฟ้องร้องคืออะไร และอาศัยสิทธิตามกฎหมายฉบับใด
              เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2552 เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกร่วมกับชุมชนจังหวัดระยอง สมาคม
ต่อต้านภาวะโลกร้อน และสมาคมสมัชชาองค์กรด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
จำนวนกว่า 40 คน ได้ออกแถลงการณ์ ฟ้องร้องหน่วยงานภาครัฐ 8 หน่วยงาน ได้แก่
                                 1. คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ
                                 2. เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
                                 3. รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ)
                                 4. รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม
                                 5. รัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน
                                 6. รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม
                                 7. รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข
                                 8. การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
ต่อศาลปกครองกลางเพื่อให้ปฏิบัติตามมาตรา 67 ของ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 (รัฐธรรมนูญฯ) ดังนี้
                 1. ขอให้ศาลเพิกถอนรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ "EIA" ซึ่งมาจากชื่อเต็มว่า
"Environmental Impact Assessment" ของโครงการหรือกิจกรรมที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดระยองที่ผ่านความเห็น
ชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการแล้ว หลังจากที่รัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2550
เป็นต้นมา จนถึงวันที่ศาลมีคำวินิจฉัยหรือมีคำพิพากษาทั้งหมด
                 2. ขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนใบอนุญาตโครงการหรือกิจกรรมที่เข้าข่ายเป็นโครงการหรือกิจกรรม
ที่ได้จัดทำ  EIA  ที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดระยอง  ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง  ทั้งทางด้านคุณ
ภาพสิ่งแวดล้อม  ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ และให้ระงับการดำเนินกิจกรรมหรือโครงการใดๆ ที่ผู้ถูกฟ้อง
(8 หน่วยงาน)  ได้อนุญาตไปแล้วนับตั้งแต่วันที่  24  สิงหาคม 2550 เป็นต้นมา จนถึงวันที่ศาลมีคำวินิจฉัยหรือ
มีคำพิพากษาทั้งหมด
                 3. ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 8 ราย หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันออกระเบียบหรือหลักเกณฑ์ หรือ
การอื่นใดตามขั้นตอนของกฎหมายภายใน  30  วัน  นับแต่วันที่ศาลมีคำวินิจฉัยหรือมีคำพิพากษา เพื่อรองรับ
ให้ผู้ประกอบการหรือเจ้าของโครงการหรือกิจกรรม   หรือบริษัทที่ปรึกษาที่รับจัดทำ   EIA   ได้ดำเนินการตาม
มาตรา 67 แห่งรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ให้ถูกต้อง
                 ทีนี้เรามาพิจารณากันว่า มาตรา 67 แห่งรัฐธรรมนูญกำหนดหลักเกณฑ์อะไรที่ทำให้ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า
การอนุมัติ EIA ของคณะกรรมการผู้ชำนาญการไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด
                 มาตรา 67 วรรค 2 แห่งรัฐธรรมนูญ บัญญัติไว้ว่า "การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิด
ผลกระทบอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ จะกระทำไม่ได้ เว้น
แต่จะได้ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในชุมชน และจัดให้มี
กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้เสียก่อน รวมทั้งได้ให้องค์การอิสระซึ่งประกอบด้วย
ผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการการศึกษาด้านสิ่ง
แวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพ ให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินการดังกล่าว"
                 ทั้งนี้ นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับ หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องยังไม่ได้มีการกำหนดแนวทาง
การจัดทำรายงาน  EIA  เพื่อให้สอดคล้องกับบทบัญญัติในมาตรา  67  วรรคสองของรัฐธรรมนูญ  โดยคณะ
รัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2552 ที่ผ่านมา กำหนดวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการประเมินผลกระทบ
ต่อสุขภาพตามมาตรา 67 แห่งรัฐธรรมนูญ สามารถสรุปได้ดังนี้
               1. ให้การจัดทำรายงาน EIA มีการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและด้านสุขภาพรวมไว้ด้วยกัน
และให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ตั้งคณะกรรมการผู้ชำนาญการเพื่อพิจารณาโครงการหรือกิจกรรมที่อาจ
ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงตามมาตรา 67 เพื่อพิจารณาโครงการหรือกิจกรรมดังกล่าว
               2. ให้สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจัดทำหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลกระทบต่อ
สุขภาพตามมาตรา 25 (5) ของพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 เพื่อเป็นแนวทางในการประเมินผล
ด้านสุขภาพ
                3. ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ประสานงานกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ดำเนินการ
ยกร่างแนวทางเพื่อให้ได้มาซึ่งองค์การอิสระ เพื่อให้ความเห็นประกอบการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและ
สุขภาพสำหรับโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงตามมาตรา 67 โดยระหว่างที่รอ
คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ดำเนินการยกร่างระเบียบสำนักนายกฯ
ว่าด้วยการดำเนินการขององค์การอิสระในการให้ความเห็นชอบต่อโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผล
กระทบอย่างรุนแรงตามมาตรา 67 ไปพลางก่อน
                 4. ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ปรับปรุงพระราชบัญญัติ
ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 เพื่อรองรับการดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67
                 การเพิกถอนรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมกว่า  70  โรงงาน  และขอให้ศาลพิพากษา
เพิกถอนใบอนุญาตโครงการ หรือกิจกรรมที่เข้าข่ายเป็นโครงการหรือกิจกรรมที่ได้จัดทำ EIA ที่อยู่ในพื้นที่
จังหวัดระยอง เพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 67 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี พ.ศ. 2550
(รัฐธรรมนูญ)
                  ทั้งนี้ หากเราพิจารณาโดยผิวเผินก็ดูเหมือนว่า มาตรา 67 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญไม่มีอะไรใหม่
เพราะขั้นตอนการจัดทำ EIA เพื่อเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนั้น ในปัจจุบันก็ได้มีการกำหนดให้ต้องจัดให้มี
การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอยู่แล้ว แต่สิ่งที่มาตรา 67 ของรัฐธรรมนูญได้กำหนดเพิ่มเติมจาก
กฎเกณฑ์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน คือ ต้องมีการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ และต้องให้มีองค์การอิสระ
ร่วมให้ความเห็นประกอบการพิจารณาด้วย
                  ประเด็นนี้นี่เองที่เป็นปัญหา เนื่องจากตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 24
สิงหาคม 2550 หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ยังไม่ได้มีการอนุวัตนำเอาบทบัญญัติในส่วนที่เพิ่มเติมส่วนนี้ มา
ออกเป็นกฎหมายเพื่อให้มีการปฏิบัติเป็นการทั่วไปแต่อย่างใด จนกระทั่งมีการฟ้องร้องเป็นความกัน รัฐบาลก็
งานเข้าทันที โดยรัฐบาลได้พยายามที่จะดำเนินการบางอย่าง เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าตามที่ผู้เขียนได้
กล่าวถึงในบทความฉบับที่แล้ว นอกจากนั้น ก็ได้มีหน่วยงานของรัฐหลายหน่วยงาน ได้ทำหนังสือหารือไป
ยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อขอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความในหลายประเด็นตามมาตรา
67 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ให้ความเห็นในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวกับมาตรา 67 ของ
รัฐธรรมนูญ เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา คือ
                 1. บทบัญญัติมาตรา 67 ของรัฐธรรมนูญ มีผลใช้บังคับนับแต่วันที่รัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับ หรือ
ต้องดำเนินการจัดทำหรือปรับปรุงกฎหมายตามนัยมาตรา 303 (1) ของรัฐธรรมนูญก่อน
                  ในประเด็นนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่า โดยหลักของการตรากฎหมายต้องถือว่า เมื่อได้มีการ
ประกาศใช้กฎหมายฉบับใดในราชกิจจานุเบกษาแล้ว   ผลใช้บังคับของกฎหมายฉบับนั้น    ย่อมเริ่มตั้งแต่วันที่
กำหนดในกฎหมายฉบับนั้น ดังนั้น เมื่อรัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2550 สิทธิชุมชนตาม
มาตรา 66 และมาตรา 67 ของรัฐธรรมนูญ จึงได้เกิดขึ้นและได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแล้ว  อย่างไรก็
ดี จะต้องมีการพิจารณามาตรา 303 ของรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วย ซึ่งกำหนดให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการจัดทำ
หรือปรับปรุงกฎหมายในเรื่องต่างๆ ให้แล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนด เว้นแต่มีกฎหมายใดที่ได้ตราเอาไว้ก่อน
ที่รัฐธรรมนูญจะมีผลใช้บังคับ ถ้ามีเนื้อหาที่เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญ กำหนดแล้ว ก็เป็นข้อยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติ
ตามมาตรา 303 จึงเห็นว่าในกรณีที่มาตรา 67 ของรัฐธรรมนูญ ในส่วนที่ยังไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะยัง
ไม่มีกฎหมายกำหนดรายละเอียด ก็ต้องรอจนกว่าจะมีกฎหมายก่อน
                  ดังนั้น ในส่วนของการศึกษาและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของชุมชน และการจัด
ให้มีการรับฟังความคิดเป็นของผู้มีส่วนได้เสียนั้น ปัจจุบันพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม
แห่งชาติ พ.ศ. 2535 ก็ได้กำหนดกฎเกณฑ์ดังกล่าวไว้แล้ว ก็ให้ปฏิบัติไปตามแนวทางที่มีอยู่จนกว่าจะได้มีการ
ปรับปรุงกฎหมาย เพื่อกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการ ที่อาจมีผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงเป็นการ
เฉพาะ ส่วนในเรื่องของการจัดตั้งองค์การอิสระก็จะต้องมีการตรากฎหมาย เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ก่อน
                2. ระหว่างที่ยังไม่มีการจัดทำหรือปรับปรุงกฎหมาย หน่วยงานอนุญาตสามารถกำหนดหลักเกณฑ์ใน
การดำเนินการเพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามมาตรา 67 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญ ได้เองหรือไม่
               ในประเด็นนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่า มาตรา 303 กำหนดให้คณะรัฐมนตรีต้องจัดทำหรือปรับ
ปรุงกฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปีตามมาตรา 67 ประกอบมาตรา
303 ของรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เป็นไปในแนวทางและมาตรฐานเดียวกัน แต่ในระหว่างที่ยังไม่มีกฎหมายดังกล่าว
หน่วยงานอนุญาตที่เกี่ยวข้องสามารถใช้ดุลยพินิจประกาศให้รู้โดยทั่วไปว่าโครงการใดบ้างที่ถือว่าอาจมีผล
กระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงตามมาตรา 67 ของรัฐธรรมนูญ แต่ก็ต้องทำให้เข้าใจได้ว่าประกาศดังกล่าวนั้น
ไม่มีผลเป็นเด็ดขาด ผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถโต้แย้งได้
                  3. หน่วยงานอนุญาตจะอาศัยอำนาจตามกฎหมายปัจจุบันพิจารณาออกใบอนุญาตให้แก่โครงการ
หรือกิจกรรมที่อาจอยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 67 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญ ได้หรือไม่
                  ในประเด็นนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่า โดยหลักทั่วไปของการตรากฎหมายย่อมไม่มีวัตถุ
ประสงค์ให้การบริหารราชการแผ่นดิน หรือการประกอบอาชีพของประชาชนต้องสะดุดหยุดลงในระหว่างที่ยัง
ไม่มีกฎหมายกำหนดรายละเอียดในการดำเนินการ ดังนั้น ในระหว่างที่ยังไม่มีกฎหมายกำหนดรายละเอียดใน
การจัดตั้งองค์กรอิสระ หน่วยงานอนุญาตจึงมีอำนาจในการออกใบอนุญาตให้แก่โครงการหรือกิจกรรมที่ก่อให้
เกิดผลกระทบต่อชุมชนได้ หากโครงการนั้นได้มีการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและ
สุขภาพของชุมชน และได้มีการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียตามกฎหมายปัจจุบันแล้ว
                  จากการตีความของคณะกรรมการกฤษฎีกาดังกล่าว ดูเหมือนจะบอกเป็นนัยว่า EIA ที่ได้รับอนุมัติ
ไปแล้ว หรือโครงการที่รัฐได้ออกใบอนุญาตเพื่อการประกอบกิจการไปแล้ว หากทำตามขั้นตอนที่กฎหมาย
ปัจจุบันกำหนด ก็ต้องถือว่าไม่ขัดกับมาตรา 67 ของรัฐธรรมนูญ เพราะยังไม่มีกฎหมายที่กำหนดรายละเอียด
                  ผู้เขียนมีข้อสังเกตบางประการจากประเด็นที่คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ให้ความเห็น อาทิเช่น ไม่มี
การพิจารณาว่า การที่คณะรัฐมนตรีไม่ออกกฎหมายรองรับบทบัญญัติในส่วนที่เพิ่มเติมตามมาตรา 67 ของ
รัฐธรรมนูญ ภายใน 1 ปีตามที่กล่าวไว้ในประเด็นที่ 2 ข้างต้นนั้น ผลจะเป็นอย่างไร และกรณีที่มีความเห็นใน
ประเด็นที่ 3 ตามที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า "หน่วยงานอนุญาตจึงมีอำนาจในการออกใบอนุญาตให้แก่โครงการหรือ
กิจกรรมที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนได้" นั้น มีความหมายครอบคลุมถึงโครงการหรือกิจกรรมที่ก่อให้เกิด
ผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงตามมาตรา 67 ด้วยหรือไม่ ก็ฝากเป็นการบ้านให้ท่านผู้อ่านไปช่วยกันคิดนะคะ
               ภายหลังจากที่กฤษฎีกาได้มีการให้ความเห็น กรณีการปฏิบัติตามมาตรา 67 ของรัฐธรรมนูญปี พ.ศ.
2550 ตามที่ผู้เขียนได้กล่าวถึงในบทความฉบับที่แล้ว ก็ได้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ออกมาหลายกระแสในหลาย
ประเด็น อาทิเช่น คณะกรรมการกฤษฎีกามีอำนาจในการให้ความเห็นตามมาตรา 67 ของรัฐธรรมนูญปี พ.ศ.
2550 หรือไม่ หรือการให้ความเห็นทางกฎหมายของคณะกรรมการกฤษฎีกาไม่ใช่กฎหมาย ซึ่งการที่หน่วยงาน
ของรัฐจะดำเนินการตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ให้ความเห็นเอาไว้ ก็ไม่ได้หมายความว่าได้ทำถูกต้อง
ตามที่มาตรา 67 ของรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2550 ได้บัญญัติเอาไว้ เป็นต้น
                  นอกจากนั้น ยังได้มีนักวิชาการหลายท่านที่ได้ออกมาให้ความเห็นในทำนองที่ว่า การดำเนินการ
ตามมาตรา 67 ของรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. 2550 นั้น ไม่จำเป็นต้องรอให้มีการตรากฎหมายลำดับรองที่เกี่ยวข้อง
ออกมาเพื่อการปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรา 67 ของรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. 2550 เนื่องจากสิทธิและเสรีภาพของ
ประชาชนที่รัฐธรรมนูญปี   พ.ศ. 2550   รองรับไว้ มีสภาพบังคับได้ทันทีที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้บังคับ  หาก
ปรากฏว่า การดำเนินโครงการหรือกิจการใดๆ อาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชุมชน บุคคล และชุมชน
ย่อมมีสิทธิที่จะฟ้องต่อศาลปกครองได้ตามมาตรา 67 วรรคสามของรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2550 เพื่อขอให้ศาล
มีคำพิพากษา หรือคำสั่งให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชนที่ดำเนินโครงการหรือกิจการนั้น ดำเนินการให้
เป็นไปตามมาตรา 67 วรรคสองของรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2550 ก่อนได้ โดยในประเด็นที่นักวิชาการได้ให้ความ
เห็นในส่วนนี้ ผู้เขียนเข้าใจว่า เป็นกรณีที่ได้หยิบยกเอาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่เพิ่งจะได้มีการวินิจฉัย
ไปเมื่อไม่นานนี้  ซึ่งเกี่ยวกับกรณีตามมาตรา  46  วรรคหนึ่งของพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่ง
แวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 (กฎหมายสิ่งแวดล้อม) ว่า ขัดหรือแย้งต่อมาตรา 56 วรรคสองของรัฐธรรมนูญปี
พ.ศ. 2540  หรือไม่  ผู้เขียนก็ไม่ค่อยจะแน่ใจว่า   ทำไมมันถึงได้พอดิบพอดีกับกรณีที่กำลังคุกรุ่นอยู่ในขณะนี้
ที่มาบตาพุด ดังนั้น บทความฉบับนี้ ผู้เขียนจะพูดถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งอาจจะมีผลต่อการ
ดำเนินการใดๆ หรือความพยายามใดๆ ของรัฐ ในอันที่จะแก้ไขปัญหาในมาบตาพุด
                  ท่านผู้อ่านอาจสงสัยว่า มาตรา 56 วรรคสองของรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2540 มันเกี่ยวกับมาตรา 67
ของรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2550 อย่างไร และมันเกี่ยวข้องกับกรณีของมาบตาพุดอย่างไร
                 เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2552 ศาลรัฐธรรมนูญได้มีการวินิจฉัยกรณีที่ศาลปกครองสูงสุดได้ส่งคำโต้
แย้งของผู้ฟ้องคดี (ประชาชนจำนวนกว่าสองร้อยคน) ที่ยื่นฟ้องต่อหน่วยงานราชการส่วนท้องถิ่นหลายหน่วย
งานในโครงการก่อสร้างระบบกำจัดมูลฝอยในเขตเทศบาลตำบลน้ำพอง โดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
ดังกล่าวได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ไปเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2552 ที่ผ่านมา
                 บทบัญญัติในมาตรา 56 วรรคสองของรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2540 นั้น เป็นหลักการเดียวกับบท
บัญญัติมาตรา  67   วรรคสองของรัฐธรรมนูญ   ปี พ.ศ. 2550   โดยศาลปกครองได้ยื่นคำร้องไปยังศาล
รัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 ซึ่งประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2540 ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น ดังนั้น ใน
การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญสำหรับคำร้องนี้ จึงเป็นการวินิจฉัยตามมาตรา 67 วรรคสองของรัฐธรรมนูญปี
พ.ศ. 2550
                 จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ สรุปได้ว่า มาตรา 46 วรรคหนึ่งของกฎหมายสิ่งแวดล้อมได้
กำหนดให้รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม มีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษา
กำหนดประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชนที่มีผลกระทบสิ่ง
แวดล้อม ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยบทบัญญัตินี้ ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า เป็น
มาตรการทางกฎหมายที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญในมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. 2550 แล้ว
แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. 2550 มีเจตนารมณ์ให้สิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้
รับรองไว้มีสภาพบังคับได้ทันทีที่รัฐธรรมนูญประกาศให้มีผลใช้บังคับ โดยไม่ต้องรอให้มีการบัญญัติกฎหมาย
อนุมัติการมาใช้บังคับก่อน ดังนั้น การบังคับใช้บทบัญญัติมาตรา 46 วรรคหนึ่งของกฎหมายสิ่งแวดล้อม จึงต้อง
ดำเนินการให้สอดคล้อง และเป็นไปตามหลักการของมาตรา 67 วรรคสองของรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2550 ด้วย
ดังนั้น ในกรณีที่มีการดำเนินโครงการ หรือกิจการที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ก็ดี หรือเป็นโครงการหรือ
กิจการที่ไม่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามมาตรา 46 วรรคหนึ่งของกฎหมายสิ่งแวด
ล้อม หากปรากฏว่า การดำเนินโครงการหรือกิจการอาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชุมชน ทั้งทางด้าน
คุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพต่อบุคคลหรือชุมชน บุคคลหรือชุมชนย่อมมีสิทธิที่จะ
ฟ้องต่อศาลปกครองได้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรคสาม เพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้หน่วย
งานราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชนที่ดำเนินโครงการ หรือกิจการนั้น จัดให้มีการประเมินคุณภาพสิ่งแวดล้อม
และสุขภาพของประชาชน การจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน หรือการให้องค์กรอิสระด้านสิ่ง
แวดล้อมและสุขภาพ และสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติหรือ
ด้านสุขภาพ ให้ความเห็นก่อนดำเนินโครงการหรือกิจการได้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรคสอง
                จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญข้างต้น ดูเหมือนจะเป็นแนวทางว่า หากหน่วยงานของรัฐมีการ
อนุญาตโครงการใดๆ ที่เข้าข่ายต้องปฏิบัติตามมาตรา 67 วรรคสองของรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2550 และไม่
ปฏิบัติ บุคคลและประชาชนมีสิทธิฟ้องศาลปกครองได้ทันที งานนี้รัฐบาลอาจอยู่ในภาวะที่ค่อนข้างลำบาก
เพราะในขณะที่รัฐบาลพยายามส่งเสริมให้มีการลงทุนเพิ่มขึ้น เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ หากต้องมี
การชะลอการอนุมัติโครงการต่างๆ เพื่อให้มีการดำเนินการตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 67 วรรคสองของ
รัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2550 นักลงทุนคงจะหนีไปลงทุนในประเทศอื่นหมด หรืออะไรที่นักลงทุนได้ลงทุนไป
แล้วแต่ต้องหยุดชะงักลง ก็ไม่รู้ว่ารัฐบาลจะโดนฟ้องร้องมากน้อยแค่ไหน
              เรามาเริ่มกันที่ข้อมูลความคืบหน้าของคดีที่กลุ่มชาวบ้านผู้ฟ้องคดี ได้ยื่นฟ้องหน่วยงานภาครัฐต่อ
ศาลปกครองกลาง   เมื่อวันที่   19   มิถุนายน   2552  กันก่อนนะคะ ว่า ไปถึงไหนกันแล้ว ล่าสุดเมื่อวันที่ 23
กันยายน 2552 ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราว เพื่อให้ศาลระงับโครงการ
หรือกิจกรรมใดๆ ทั้ง 76 โครงการ
             ที่ได้ผ่านความเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะประกอบกิจการใดๆ ไม่ได้
จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา ขณะนี้ ก็อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองว่าศาลจะมีคำสั่งคุ้มครองชั่ว
คราวหรือไม่ การร้องขอให้ศาลกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวนี้ เป็นกระบวนการหนึ่งในทางศาลที่ผู้ฟ้อง
คดี อาจขอให้ศาลมีคำสั่งให้ระงับการกระทำใดๆ ระหว่างที่คดีความอยู่ในระหว่างการพิจารณา ก็มาลุ้นกันค่ะ
ว่า ผลจะเป็นประการใด
                สำหรับบทความวันนี้ ผู้เขียนอยากหยิบยกหนึ่งในข้อโต้แย้งของผู้ฟ้องคดี กรณีการฟ้องเพิกถอน
รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการในมาบตาพุด ที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่าเป็นการขัดกับ
มาตรา 67 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญ คือ กรณีที่รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมผ่านความเห็นชอบ
จากหน่วยงานของรัฐ โดยไม่ได้ดำเนินการประเมินผลกระทบทางด้านสุขภาพ
                "การประเมินผลกระทบทางด้านสุขภาพ"     หรือที่ภาษาอังกฤษใช้คำว่า     "Health    Impact
Assessment" : "HIA" ดูเหมือนจะเป็นเรื่องใหม่สำหรับคนไทย แต่จริงๆ แล้วไม่ใหม่ค่ะ เนื่องจากแนวนโยบาย
การประเมินผลกระทบทางด้านสุขภาพได้ถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตั้งแต่ปี พ.ศ.
2540 โดยกำหนดให้คนไทยมีสิทธิในการเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายสาธารณะ ซึ่งรวมถึงการเข้า
ไปมีส่วนร่วมในโครงการที่มีผลกระทบทางด้านสุขภาพที่จำเป็นต้องมีการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ โดย
รัฐบาลไทยได้มีการยกร่างพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติขึ้นในปี 2543 และผ่านเป็นกฎหมายฉบับสมบูรณ์
มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2550 ในสมัยรัฐบาลท่านพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ก็ใช้เวลานานพอสมควร
นะคะ 7 ปี สำหรับแนวความคิดที่จะป้องกันไว้ก่อนที่จะเกิดผลกระทบ แล้วค่อยมาแก้ปัญหากันในภายหลัง
สำหรับคุณภาพชีวิตของประชาชนคนไทย แต่ถึงช้าผู้เขียนก็ยังเห็นว่าดีกว่าที่จะไม่เริ่มทำอะไรเลย
                 ทีนี้ เรามาศึกษากันว่า "การประเมินผลกระทบทางด้านสุขภาพ" มันคืออะไร เรามาศึกษาจากความ
เห็นและข้อเสนอแนะนโยบายสาธารณะกับการประเมินผลกระทบทางด้านสุขภาพ ที่ทำการศึกษาและนำเสนอ
โดยสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกันนะคะ
                  สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ให้ความหมายของ "การประเมินผลกระทบทางด้าน
สุขภาพ" ว่าหมายความถึง การประมาณการหรือคาดการณ์ไปข้างหน้าถึงผลกระทบของการดำเนินกิจกรรม
โครงการ แผน และนโยบายต่างๆ ที่มีต่อสุขภาพของประชาชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เพื่อส่งเสริมให้มีการนำปัจจัย
ทางสุขภาพของมนุษย์เข้าไปไว้ในการกำหนดนโยบาย และการออกแบบและการตัดสินใจในการดำเนินโครง
การและแผนงานต่างๆ เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวพันกับโรคและภัยคุกคามแก่สุขภาพของมนุษย์ ไม่ว่าจะเกิด
จากปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม และพฤติกรรม ซึ่งการให้ความหมายนี้ เป็นการนำเอาคำจำกัด
ความ ที่องค์การอนามัยโลกได้ให้ไว้เมื่อปี 2543 มาใช้
               พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 (กฎหมายสุขภาพ) กำหนดให้มีคณะกรรมการสุขภาพ
แห่งชาติ  (คสช.)  โดยมีอำนาจหน้าที่ที่ตามมาตรา  25  ของกฎหมายสุขภาพที่สำคัญ  อาทิเช่น  การจัดทำ
ธรรมนูญ  ทุกๆ  5  ปี  ว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ  เพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ และการ
กำหนดกฎเกณฑ์  วิธีการติดตามประเมินผลระบบสุขภาพและผลกระทบด้านสุขภาพที่เกิดจากนโยบาย
สาธารณะ เป็นต้น นอกจากนั้น กฎหมายสุขภาพฉบับนี้ ยังได้กำหนดสิทธิและหน้าที่ด้านสุขภาพที่สำคัญไว้
อาทิเช่น สิทธิของบุคคลในการดำรงชีวิตในสิ่งแวดล้อมและสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อสุขภาพ และ
สุขภาพของหญิง (ในด้านสุขภาพทางเพศ) เด็ก คนพิการ คนสูงอายุ และคนด้อยโอกาสในสังคมและคนกลุ่ม
ต่างๆ ที่มีความจำเพาะ ซึ่งต้องได้รับการเสริมสร้างและการคุ้มครองอย่างสอดคล้องและเหมาะสม เป็นต้น
               ทั้งนี้ หนึ่งในบทบัญญัติที่สำคัญของกฎหมายสุขภาพ ที่สอดคล้องกับมาตรา 67 ของรัฐธรรมนูญ
ปี พ.ศ. 2550 ได้แก่ สิทธิตามมาตรา 11 ของกฎหมายสุขภาพ ซึ่งกำหนดให้บุคคล หรือคณะบุคคลมีสิทธิร้อง
ขอให้มีการประเมิน และมีส่วนร่วมในกระบวนการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพจากนโยบายสาธารณะ โดย
บุคคล หรือคณะบุคคลมีสิทธิที่จะได้รับรู้ข้อมูล คำชี้แจง และเหตุผลจากหน่วยงานของรัฐ ก่อนการอนุญาต
หรือการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมใดที่อาจมีผลกระทบต่อสุขภาพของตนหรือของชุมชนและแสดงความเห็น
ของตนในเรื่องดังกล่าว
               ชาวบ้านในชุมชนมาบตาพุด ที่ร่วมกับสมาคมต่อต้านภาวะโลกร้อน ก็อาศัยสิทธิตามมาตรา 11 ของ
กฎหมายสุขภาพฉบับนี้   ประกอบกับมาตรา  67  ของรัฐธรรมนูญ  ปี  พ.ศ. 2550 ในการเรียกร้องต่อหน่วยงาน
ของรัฐที่ละเลย  ไม่นำพาเอาสิ่งที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัต ิ เอาไปปฏิบัติ  ซึ่งก็คือ  การละเลยไม่ออก
กฎเกณฑ์ วิธีการติดตามประเมินผลระบบสุขภาพและผลกระทบด้านสุขภาพที่เกิดจากนโยบายสาธารณะ ที่
กำหนดไว้ในมาตรา 25 (5) ของกฎหมายสุขภาพนั่นเองค่ะ
               กฎหมายบ้านเราหลายต่อหลายฉบับ ก็มีปัญหาในลักษณะเดียวกันนี้ คือ รัฐออกกฎหมายแม่มาแล้ว
แต่กว่าจะออกกฎหมายลูกซึ่งเป็นแนวทางในการปฏิบัติได้ ก็ใช้เวลาคิดกันอยู่นานมาก ซึ่งผู้เขียนเห็นว่า การที่
มีบทบัญญัติของกฎหมายหลายฉบับในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ ให้สิทธิแก่ประชาชนในการเรียกร้อง และตรวจ
สอบหน่วยงานของรัฐได้นั้น ถือเป็นสิ่งที่ดี เพราะอย่างน้อยก็เป็นการกระตุ้นให้ภาครัฐ ให้ความสำคัญต่อการ
ออกกฎหมายลูกให้เร็วขึ้น ผู้เขียนยังมีความเชื่ออยู่ลึกๆ ว่า หากไม่มีคดีความฟ้องร้องกันที่มาบตาพุด การออก
กฎหมายลูกตามมาตรา 25 (5) ของกฎหมายสุขภาพ ก็อาจจะยังเป็นหมันอยู่ ก็ต้องขอขอบคุณชาวมาบตาพุด
ที่เป็นปากเป็นเสียงให้กับคนไทยทั้งประเทศมา ณ ที่นี้ด้วยค่ะ
             ท่านผู้อ่านคงได้ทราบถึงคำสั่งศาลปกครองกลาง กรณีการกำหนดมาตรการ หรือวิธีการเพื่อบรรเทา
ทุกข์เป็นการชั่วคราวก่อนการพิพากษา (คำสั่งคุ้มครองชั่วคราว) โดยระงับการดำเนินการ 76 โครงการ เพื่อ
การคุ้มครองชุมชนมาบตาพุดกันไปแล้วนะคะ ซึ่งต้องถือว่าเป็นคำสั่งที่สร้างความประหลาดใจ และตกใจแก่
ผู้ที่เกี่ยวข้องหลายกลุ่มอยู่พอสมควร
              โดยศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2552 ให้ผู้ถูกฟ้องคดี (หน่วยงานของรัฐ 8
หน่วยงาน) สั่งระงับโครงการหรือกิจกรรมไว้เป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งเปลี่ยน
แปลงเป็นอย่างอื่น โดยให้ยกเว้นโครงการหรือกิจกรรมที่ได้รับใบอนุญาตก่อนวันประกาศใช้บังคับรัฐธรรมนูญ
ปี พ.ศ. 2550 และโครงการที่ไม่อยู่ในข่ายที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม
                ตอนแรกผู้เขียนก็แอบสงสัยอยู่เล็กน้อยว่า ศาลปกครองกลางได้พิจารณาในประเด็นความเสียหาย
ที่อาจเกิดขึ้นแก่คนงานที่อาจตกงาน หรือภาพรวมของเศรษฐกิจของประเทศหรือไม่ ซึ่งภายหลังจากการศึกษา
คำสั่งฉบับนี้อย่างละเอียด ปรากฏว่า ศาลปกครองได้พิจารณาในประเด็นดังกล่าวนี้แล้ว โดยเห็นว่า แม้คำสั่ง
คุ้มครองชั่วคราวอาจก่อให้เกิดปัญหาและอุปสรรคต่อการบริหารงานของรัฐด้านเศรษฐกิจ และส่งผลกระทบ
เป็นวงกว้างทั้งต่อผู้ประกอบการและการจ้างงานกว่าหนึ่งแสนคน รวมถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อกา
รลงทุนในประเทศไทยก็ตาม แต่ศาลเห็นว่าปัญหาและอุปสรรคดังกล่าว สามารถป้องกัน แก้ไขและบรรเทาให้
น้อยลงได้ ด้วยวิธีการบริหารราชการแผ่นดินตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และคำนึงถึงผลประโยชน์ของ
ประเทศชาติในภาพรวมเป็นสำคัญตามแนวนโยบายพื้นฐานของรัฐ
                 ประเด็นที่ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องหลายกลุ่มประหลาดใจก็อยู่ตรงเหตุผลนี้แหละค่ะ ต้องบอกว่า แนว
คำสั่งหรือคำพิพากษาคดีปกครองที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมช่วงหลังๆ ออกมาในแนวทำนองที่เห็นความเดือดร้อน
ของประชาชนเป็นสำคัญ ซึ่งผู้เขียนเองก็มองว่าเป็นสิ่งที่ดีนะคะ แนวโน้มนี้ทำให้ผู้เขียนก็ไม่อยากจะจินตนาการ
ว่าผลของคำพิพากษาในคดีนี้ท้ายที่สุดจะเป็นอย่างไร ซึ่งหากผลของคำพิพากษาออกมาแล้ว เหมือนอย่าง
คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวนี้ ประเทศชาติและรัฐบาลไทยจะสามารถแบกรับความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นได้มาก
น้อยแค่ไหน เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก
เรากลับมาศึกษาเพิ่มเติมกันต่อค่ะว่า รัฐบาลมีการเดินหน้าแก้ไขคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวนี้กันอย่างไร
               หลังจากที่ศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวแล้ว รัฐบาลโดยคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ได้สั่งการ
เป็นการเร่งด่วน โดยมอบหมายให้อัยการสูงสุด ยื่นอุทธรณ์คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวแทนหน่วยงานของรัฐผู้ถูก
ฟ้องคดี ซึ่งอัยการสูงสุดได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองไปแล้วเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2552 ที่ผ่านมา
                มีท่านผู้อ่านบางรายได้สอบถามมายังผู้เขียนว่า ในกรณีที่ศาลปกครองรับคำอุทธรณ์ของอัยการ
สูงสุดแล้ว หมายความว่า ผู้ประกอบการทั้ง 76 โครงการมีสิทธิที่จะเริ่มประกอบกิจการของตนต่อได้ใช่หรือไม่
ผู้เขียนขอตอบว่า ผู้ประกอบการทั้ง 76 โครงการยังไม่มีสิทธิที่จะเริ่มดำเนินโครงการต่อไปได้ จนกว่าศาล
ปกครองจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว การรับคำร้องอุทธรณ์ของศาลปกครองนั้น เป็นเพียงการ
รับไว้เพื่อการพิจารณา ว่า จะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวหรือไม่เท่านั้นค่ะ
                 ทั้งนี้ ภายหลังที่ศาลปกครองพิจารณาคำร้องอุทธรณ์ของอัยการสูงสุดแล้ว หากศาลมีคำสั่งไม่
เปลี่ยนแปลงคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว นั่นหมายความว่า โครงการที่ถูกสั่งให้ระงับก็ต้องไม่ดำเนินการต่อจนกว่า
ศาลจะมีคำพิพากษาในคดี ในทางกลับกัน หากศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำสั่งคุ้มครอง
ชั่วคราว โครงการที่ถูกสั่งให้ระงับก็สามารถดำเนินการต่อไปได้ จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาในคดี
                เรามาดูเพิ่มเติมในเรื่องของสิทธิในการอุทธรณ์กันค่ะว่า นอกเหนือจากผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 8 ซึ่งเป็นคู่
ความในคดีแล้ว ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครอง ที่ไม่ได้เป็นคู่ความในคดีนั้น
จะมีสิทธิยื่นอุทธรณ์ใดๆ กับเขาได้บ้างหรือไม่
                ตามระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.
2543 ซึ่งออกตามมาตรา 66 ของพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542
(กฎหมายปกครอง) กำหนดให้ผู้มีส่วนได้เสียมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นที่สั่งทุเลาการบังคับ
ตามคำสั่งทางปกครองต่อศาลปกครองสูงสุดได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ผู้มีส่วนได้เสียดังกล่าวได้รับทราบ
คำสั่งดังกล่าว โดยขอให้ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งระงับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นที่สั่งทุเลาการบังคับตาม
คำสั่งทางปกครองไว้เป็นการชั่วคราวก่อนการวินิจฉัยอุทธรณ์ได้
                จากระเบียบดังกล่าว หากอธิบายกันแบบง่ายๆ ก็คือ ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว
ของศาลปกครอง อาทิเช่น ผู้ประกอบการทั้ง 76 โครงการ มีสิทธิที่จะดำเนินการได้ดังนี้
                1. ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวต่อศาลปกครองสูงสุด แยกต่างหากจากคำร้องอุทธรณ์
ของอัยการสูงสุด
                2. ยื่นคำขอต่อศาลปกครองสูงสุดให้มีคำสั่งระงับคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครองกลางไว้
เป็นการชั่วคราวก่อนจนกว่าศาลปกครองสูงสุดจะมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์
                ทั้งนี้ เมื่อศาลปกครองสูงสุดรับคำร้องอุทธรณ์คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของผู้มีส่วนได้เสียแล้ว ศาล
ปกครองสูงสุดมีอำนาจออกคำสั่งให้ (ก) ระงับคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลชั้นต้นทั้งหมด หรือบางส่วน
หรือ (ข) ระงับคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลชั้นต้น โดยเลือกเป็นรายโครงการก็ได้
               ผู้เขียนได้อ่านข่าวจากสื่อมวลชนเข้าใจว่าขณะนี้ศาลปกครองสูงสุดได้รับคำร้องอุทธรณ์ของอัยการ
สูงสุดไว้พิจารณาแล้ว โดยแหล่งข่าวแจ้งว่าศาลปกครองสูงสุดจะพยายามเร่งพิจารณาคำอุทธรณ์ของอัยการ
สูงสุด ก็มาช่วยกันลุ้นนะคะว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร ส่วนด้านของ ผู้ประกอบการ หากต้องการจะยื่นอุทธรณ์
ต่อศาลปกครองสูงสุดในฐานะผู้มีส่วนได้เสีย แยกต่างหากจากคำร้องอุทธรณ์ของอัยการสูงสุด ก็ยังมีเวลาจน
ถึงประมาณวันที่ 28 ตุลาคม 2552 นี้นะคะ
                นับจากวันที่ 2 ตุลาคม 2552 ซึ่งเป็นวันที่หน่วยงานของรัฐทั้ง 8 ผู้ถูกฟ้องคดี ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่ง
กำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา (คำสั่งคุ้มครองชั่วคราว) จน
ถึงวันที่ 2 ธันวาคม 2552 ซึ่งเป็นวันชี้ชะตาของผู้ประกอบการทั้ง 76 โครงการ ซึ่งเป็นเวลา 2 เดือนเต็มๆ ที่
ศาลปกครองสูงสุดใช้เวลาในสืบพยานต่างๆ และพิจารณาคำร้องอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดี โดยก่อนวันที่ศาล
ปกครองสูงสุดออกนั่งบัลลังก์อ่านอุทธรณ์คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวนั้น มีกระแสข่าวที่ออกมาเป็นไปในทางบวก
ว่า ศาลปกครองสูงสุดน่าจะกลับคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลชั้นต้น โดยดูได้จากตลาดหุ้นที่ดีดตัวสูงขึ้น
แต่แล้วก็ต้องผิดหวังไปตามๆ กัน
                  ศาลปกครองสูงสุดมีมติด้วยคะแนนเสียงข้างมาก 6 ต่อ 1 ให้แก้ไขคำสั่งศาลปกครองชั้นต้น โดย
ให้ผู้ถูกฟ้องคดี   สั่งระงับโครงการ   หรือกิจกรรมการลงทุนในพื้นที่มาบตาพุดและพื้นที่ใกล้เคียงจำนวน   65
โครงการ (แต่เดิมศาลชั้นต้นสั่งให้ระงับ 76 โครงการ) ไว้เป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา หรือมี
คำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น   โดยให้ยกเว้นโครงการหรือกิจกรรมที่มุ่งควบคุมหรือบำบัดมลพิษหรือติดตั้ง
อุปกรณ์เพิ่มเติม จำนวน 11 โครงการที่สามารถดำเนินการต่อไปได้ โดยแบ่งเป็นโครงการหรือกิจกรรมประเภท
อุตสาหกรรมจำนวน 7 โครงการ และโครงการหรือกิจกรรมประเภทคมนาคมจำนวน 4 โครงการเท่านั้น
                  ส่วนที่เหลืออีก 65 โครงการหรือกิจกรรมนั้น ศาลปกครองสูงสุดได้พิจารณาแล้วว่าเป็นโครงการ
หรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง โดยพิจารณาจากหลักเกณฑ์ตามประกาศของ
กระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง โครงการหรือกิจกรรมเกี่ยวกับการอุตสาหกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อ
ชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ฉบับลงวันที่ 14 กันยายน 2552 ซึ่งได้กำหนดไว้จำนวน
8 ประเภทโครงการหรือกิจกรรม ประกอบกับร่างประเภทโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อ
ชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้กำหนด
ไว้ 19 ประเภทโครงการและกิจกรรม ตั้งแต่ประมาณเดือนกรกฎาคม ปี พ.ศ. 2551 ซึ่งได้ผ่านการรับฟังความ
คิดเห็นของประชาชนมาแล้ว หากแต่ กระทรวงอุตสาหกรรมไม่ได้ดำเนินการประกาศในราชกิจจานุเบกษา
เพื่อให้มีผลใช้บังคับ
                 เมื่อคำสั่งศาลปกครองสูงสุดออกมาเป็นเช่นนี้แล้ว ต่อไปก็คงจะเป็นเรื่องของหนังชีวิตที่จะต้องรอดู
ผลของคำสั่งศาลปกครองสูงสุดว่าจะออกมาเป็นอย่างไร แต่ที่แน่ๆ ในช่วงก่อนศาลปกครองกลางจะมีคำ
พิพากษา รัฐบาลจะต้องรับมือกับปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเร่งออกกฎหมาย และ/หรือกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวกับ
การดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรา 67 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2552 และแนวทางในการเยียวยาให้
กับผู้ประกอบการทั้ง 65 โครงการและกิจกรรม
                ทีนี้ แนวทางในการสั่งระงับโครงการของหน่วยงานทั้งแปดซึ่งเป็นผู้ถูกฟ้องคดี จะดำเนินการอย่าง
ไรนั้น ในเบื้องต้น ผู้ถูกฟ้องคดีได้อ้างในคำร้องอุทธรณ์ ว่า ไม่มีอำนาจในการสั่งระงับโครงการหรือกิจกรรม
ใดได้ตามคำสั่งศาลปกครองชั้นต้นนั้น ในประเด็นพิจารณานี้ ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดี
ที่ 4 คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 6 คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และผู้
ถูกฟ้องคดีที่ 8 คือ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจออกใบอนุญาตโดยอาศัย
อำนาจตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ที่ได้มีการออกใบอนุญาตเพื่อให้สามารถดำเนินโครงการหรือกิจกรรมได้นั้น
ใบอนุญาตดังกล่าวถือเป็นคำสั่งทางปกครองตามนัยแห่งมาตรา 5 ของพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทาง
ปกครอง พ.ศ. 2539 (กฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง) ดังนั้น หากการออกใบอนุญาตดังกล่าวขัดหรือ
แย้งกับพระราชบัญญัติอื่นๆ หรือขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ผู้ถูกฟ้องคดีโดยเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจออกคำสั่งทาง
ปกครอง หรือผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่นั้น ก็สามารถเพิกถอนได้โดยอาศัยหลักเกณฑ์ตามมาตรา 50
มาตรา 51 และมาตรา 52 ของกฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองได้
                ในกรณีของคดีมาบตาพุดนี้ ผู้เขียนเห็นว่า แนวทางในการเพิกถอนใบอนุญาตของเจ้าหน้าที่ต้อง
อาศัยมาตรา 49 ประกอบกับมาตรา 52 ของกฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ซึ่งกำหนดให้คำสั่งทาง
ปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่อยู่ในบังคับตามมาตรา 51 ของกฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง
อาจถูกเพิกถอนทั้งหมดหรือบางส่วนได้ นอกจากนั้น ตามมาตรา 52 ของกฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทาง
ปกครองยังกำหนดให้ผู้ได้รับผลกระทบจากการเพิกถอนคำสั่งทางปกครอง (ซึ่งกรณีของคดีมาบตาพุดนี้ ก็คง
จะเป็นผู้ประกอบการทั้ง 65 โครงการหรือกิจกรรม) มีสิทธิได้รับค่าทดแทนความเสียหายได้ โดยต้องร้องขอ
ค่าทดแทนภายใน 180 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งให้ทราบถึงการเพิกถอน โดยมีเงื่อนไขว่า ผู้ได้รับผลกระทบนั้น
จะต้องได้รับผลกระทบจากความเชื่อโดยสุจริตในคำสั่งทางปกครองดังกล่าว ซึ่งก็คือเชื่อว่าใบอนุญาตนั้นได้
ออกโดยชอบด้วยกฎหมายนั่นเองค่ะ
              นับจากนี้ไป ก็อยู่ที่หน่วยงานภาครัฐแล้วนะคะว่า จะนิ่งเฉยกับคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดโดยการ
ไม่ออกคำสั่งระงับโครงการและกิจกรรมทั้ง 65 หรือไม่ หรือถ้ามีคำสั่งระงับก็ต้องดูกันต่อไปค่ะว่า คำสั่งระงับ
โครงการนั้น จะออกมาในรูปแบบไหน อาทิเช่น สั่งให้ระงับการประกอบกิจการไว้ชั่วคราวจนกว่าจะมีคำ
พิพากษา ซึ่งกรณีนี้ ผู้เขียนเห็นว่าผู้ประกอบการก็อาจยังไม่มีสิทธิร้องขอค่าทดแทนความเสียหายตามมาตรา
52 ของกฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองได้ เพราะยังไม่น่าจะถือเป็นการเพิกถอนใบอนุญาต หรือสั่ง
เพิกถอนใบอนุญาตเลย ซึ่งถ้าเป็นกรณีหลังนี้ ผู้ประกอบการก็ต้องเตรียมคิดคำนวณไว้นะคะว่าตนเองจะ
เรียกร้องค่าทดแทนเป็นเงินเท่าไร แต่ที่แน่ๆ จะเรียกร้องเกินกว่าประโยชน์ที่ตนจะได้รับหากใบอนุญาตไม่ได้
ถูกเพิกถอนไม่ได้นะคะ ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 52 วรรค 2 ของกฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองค่ะ
 ที่มา : กุลชา จรุงกิจอนันต์ บริษัท อัลเลน แอนด์ โอเวอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด
บทความนี้ เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน อันเป็นความเห็นในทางวิชาการ และไม่ใช่ความเห็นของบริษัท อัลเลน แอนด์ โอเวอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ผู้เขียนทำงานอยู่
http://www.thaistockinfo.com/forum2010/f0013.html

0 ความคิดเห็น: